4 เจ้าหนี้บีบ EARTH จนมุมเชิญเทกโอเวอร์

18 มิ.ย. 2560 | 08:33 น.
อนาคตเจ้าพ่อถ่านหิน ”เอิร์ธฯ” แขวนบนเส้นด้าย 4 แบงก์เจ้าหนี้ดาหน้าระงับวงเงินกู้ ตั้งเงื่อนไข แจกแจงภาระหนี้-ที่มาที่ไปของการใช้เงิน หลังพบผู้บริหารแอบใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ นำไปใช้ซื้อหุ้นเปิดทางเทกโอเวอร์

ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ (EARTH ) ต่อธนาคารเจ้าหนี้กว่า 717 ล้านบาท และ ตั๋วแลกเงิน (บี/อี) อีกกว่า 160 ล้านบาท กำลังนำธุรกิจของบริษัทและผู้ถือหุ้นเข้าสู่ภาวะวิกฤต ภายหลังธนาคารกรุงไทยที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งเงินกู้ระยะยาว ระยะสั้นร่วม 12,000 ล้านบาท ได้สั่งตัดวงเงินสินเชื่อจนเหลือแค่ 5,000 ล้านบาท ในปลายเดือนเมษายน ก่อนที่จะสั่งหยุดวงเงินกู้ในทุกบัญชีเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม หลังเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทยตรวจสอบพบว่า ผู้บริหารของบริษัท เอิร์ธฯ นำเงินกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำเงินไปซื้อขายหุ้น ผ่านบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ซึ่ง ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบพบว่า เป็นบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทยฯ (KSEC) และบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ฯ

ข้อมูลดังกล่าว สอดรับกับการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 นายขจรพงศ์ คำดี ,นายพิรุฬห์ พิหเคนทร์ ,นายพิพรรธ พิหเคนทร์ ,นายพิบูล พิหเคนทร์ ,นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ ได้ขายหุ้น EARTH ออกไปจำนวน 9.59% และ ขายออกอีกล็อตในวันที่ 25 พฤษภาคม จำนวน 1.23% ทำให้หุ้นที่กลุ่มพิหเคนทร์ถืออยู่เหลือเพียง 29.26% จากที่ถืออยู่ 40.08% อันเป็นผลมาจากการถูกบังคับขาย อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามไปยังโบรกเกอร์ทั้ง 2 ราย กลับยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ธนาคารเจ้าหนี้ของบริษัทเอิร์ธฯ 4 แห่ง นำโดย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารเอิร์ธฯเป็นครั้งแรก

โดยแหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้เปิดเผยว่า ผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทเอิร์ธฯร้องขอให้ธนาคารเจ้าหนี้ 4 ราย ต่ออายุวงเงินกู้เดิมที่ยังไม่ครบกำหนดและที่ใกล้จะครบกำหนด โดยเสนอเงื่อนไขว่า ทางบริษัทเอิร์ธฯ พร้อมจะตั้งบริษัทที่ปรึกษาการเงิน มาปรับโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับธุรกิจ และยืนยันว่า บริษัทยังไม่เข้าข่ายต้องฟื้นฟูกิจการ หรือล้มละลาย เพราะหนี้สินยังน้อยกว่าทรัพย์สิน

P1-3271c อย่างไรก็ตาม ธนาคารเจ้าหนี้ยังไม่มีมติ รับข้อเสนอของเอิร์ธฯ เจ้าหนี้ส่วนหนึ่งเห็นว่า บริษัทเอิร์ธฯยังชี้แจงมูลหนี้ไม่ชัดเจน ในเรื่องการใช้เงิน และการบริหารสต๊อกถ่านหิน พร้อมกับตั้งเงื่อนไขกลับไปให้ คณะกรรมการบริษัทเอิร์ธฯจัดการชี้แจงรายละเอียดของภาระหนี้ทั้งหมด และรอบของการชำระเงิน ปริมาณการซื้อถ่านหินในแต่ละวัน โดยเฉพาะเงินกู้ที่นำไปใช้สนับสนุนกิจการที่ประเทศจีน

“เงินที่ไหลไปจีนนั้น เป็นวงเงินกว่า 1หมื่นล้านบาท ทางเจ้าหนี้ต้องการรู้ที่ไปของการใช้เงินกู้อย่างละเอียด ก่อนจะตัดสินใจจะให้ใช้เงินหมุนเวียนต่อไปหรือไม่”แหล่งข่าวจากที่ประชุมร่วมเจ้าหนี้เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

สำหรับภาระหนี้ของเอิร์ธฯที่มีอยู่กับ 4 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย 1.2หมื่นล้านบาท(รวมเงินกู้ระยะยาว) ธนาคารกสิกรไทย 3,800ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1,200ล้านบาท และเอ็กซิมแบงก์ อีกประมาณ 350ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทเอิร์ธฯยังมีเงินกู้ตั๋ว บี/อี ที่จะครบกำหนดชำระภายในเดือนกรกฎาคมนี้อีก 470 ล้านบาท จากทั้งหมด 2,200 ล้านบาท และหุ้นกู้อีก 2 ชุด วงเงินรวม 5,500 ล้านบาท ที่มีโอกาสถูกเจ้าหนี้เรียกชำระก่อนกำหนดในปี 2562 หลังจากที่บริษัทเอิร์ธฯผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินไปแล้ว 717 ล้านบาท ซึ่งจะซํ้าเติมปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินให้กับบริษัทเอิร์ธฯมากขึ้น เนื่องจากบริษัทเอิร์ธฯมีภาระที่ต้องใช้เงินต่อเดือนประมาณ 800-1,200 ล้านบาท

“แม้จะเป็นการแยกกันปล่อยกู้แต่เจ้าหนี้ที่เหลือ ที่รู้ข่าวว่าธนาคารกรุงไทยแตะเบรกสินเชื่อแล้ว ทำให้เจ้าหนี้รายอื่นๆแตะเบรกการให้วงเงินกู้ตามไปด้วย เพราะเริ่มไม่แน่ใจ หรือแม้แต่การเบิกใช้วงเงินเดิมอาจต้องขอให้มีหลักฐานการเปิดแอล/ซี แบงก์เจ้าหนี้ก็จะใช้วิธีส่งเงินกู้ไปถึงเจ้าของเหมืองถ่านหินโดยตรง” แหล่งข่าวเปิดเผย

++EARTHเปิดทางเทคโอเวอร์
แหล่งข่าวจาก บริษัทเอิร์ธฯชี้แจงว่า ถึงขณะนี้ธุรกิจถ่านหินในประเทศจีน ยังเดินหน้าตามปกติ เนื่องจากธนาคารกสิกรไทยยังให้การสนับสนุนด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับข้อมูลของธนาคารเจ้าหนี้ ที่ยืนยันว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ระงับการให้วงเงินกู้แล้ว

“ ขณะนี้ธนาคารเจ้าหนี้ยังไม่มีการประชุมใดๆและยังให้ผู้บริหารเดิม คณะกรรมการชุดเดิม ดำเนินการต่อไปตามปกติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ และขอปฏิเสธข่าวว่า ผู้บริหารนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ นำไปปั่นหุ้น เพราะหากเป็นเรื่องจริง ราคาหุ้นตก ผู้บริหารต้องมีเงินเข้าไปซื้อ แต่สถานการณ์กลับตรงกันข้าม ผู้บริหารไม่มีเงิน มาช่วยแก้ปัญหา แถมถูกบังคับขายหุ้นจนได้รับความเสียหาย หุ้นที่เหลืออยู่ 29% ใครก็สามารถเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการก็สามารถทำได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากวงการธนาคารกล่าวว่า การแก้ปัญหาของเอิร์ธ ได้มีการประชุมร่วมกันหลายส่วน ทั้ง ก.ล.ต. สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ธนาคารเจ้าหนี้และตัวแทนของบริษัทโดยให้ธนาคารกรุงไทยในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด พิจารณาแนวทางแก้ไข ว่าจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้ แต่จะให้การสนับสนุนเอิร์ธฯต่อไป

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ปัญหาของบริษัทเอิร์ธฯที่ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี ยังอยู่ในวงจำกัด เพราะขายให้กับนักลงทุนไฮเน็ตเวิร์ก ไม่ใช่รายย่อย ส่วนหุ้นกู้เอิร์ธฯที่ถูกเรียกชำระคืนทันที หลังผิดเงื่อนไขในการผิดนัดชำระหนี้ 717 ล้านบาท จะต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดของหุ้นกู้เอิร์ธฯ ผู้ถือหุ้นกู้จะต้องไปรวบรวมเสียงเพื่อเรียกประชุมเพื่อเรียกหนี้คืน

ทั้งนี้หากบริษัทเอิร์ธฯ มีปัญหาต้องฟื้นฟูกิจการ จะกระทบต่อผู้ถือหุ้น ประมาณ 6,949 คน

P1-3271a จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560