กรมการขนส่งทางบกยันรถยนต์ไฟฟ้าต้องจดทะเบียนให้ถูกต้อง

17 มิ.ย. 2560 | 00:19 น.
กรมการขนส่งทางบกยืนยันรถยนต์ไฟฟ้าต้องจดทะเบียนถูกต้อง และใช้แผ่นป้ายทะเบียนตรงตามประเภทรถ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาแอบอ้างการใช้ป้ายแดงทดแทนได้

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สนับสนุนรถที่ใช้นวัตกรรมเพื่อการประหยัดพลังงาน หรือรถพลังงานทางเลือกทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโดยต้องเป็นรถที่มีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าและความเร็วขั้นต่ำตามที่ ขบ. กำหนด สามารถจดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย และใช้ป้ายทะเบียนรถตรงตามประเภท ไม่สามารถใช้ป้ายแดงแทน จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อการโฆษณาแอบอ้างว่าสามารถใช้ป้ายแดงทดแทนป้ายทะเบียนรถได้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และหากตรวจพบเป็นป้ายแดงปลอม อาจมีความผิดถึงขั้นจำคุก ฐานปลอมแปลงและใช้เอกสารราชการปลอม ทั้งนี้ ขบ. ได้กำหนดรายละเอียดรถพลังงานทางเลือกทดแทนแต่ละประเภท ดังนี้

180587-283x503 1. รถยนต์ไฟฟ้า (รถเก๋ง) ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 450 กิโลกรัม (ไม่รวมน้ำหนักแบตเตอรี่) หรือรถกระบะขนาดเล็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 600 กิโลกรัม (ไม่รวมน้ำหนักแบตเตอรี่) ต้องมีกำลังพิกัดมอเตอร์ไฟฟ้า (Rated Power) ไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง

2. รถยนต์ รถตู้ รถกระบะบรรทุกทั่วไป ที่มีน้ำหนักรถไม่รวมน้ำหนักแบตเตอรี่มากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น ต้องมีกำลังพิกัดมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในส่วนของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังพิกัดมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 0.25 กิโลวัตต์ หรือไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ โดยต้องมีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง

3. รถสามล้อรับจ้างและสามล้อส่วนบุคคล ต้องมีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง

การจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ามีความสะดวกและรวดเร็ว  เช่นเดียวกับการจดทะเบียนรถประเภทอื่น และสามารถรับแผ่นป้ายทะเบียนรถได้ทันที โดยเตรียมเอกสารหลักฐาน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถ หนังสือแจ้งจำหน่ายจากบริษัทผู้ผลิต หลักฐานการได้มาของรถ ประกอบด้วย สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี หลักฐานการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 รวมถึงแบบคำขอจดทะเบียนรถ และหนังสือมอบอำนาจ กรณีมอบบุคคลอื่นดำเนินการแทน และต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพเพื่อความถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่เจ้าของรถ

สำหรับการคิดอัตราภาษีรถประจำปี รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง คิดอัตราภาษีตามน้ำหนักของรถ โดยเป็นอัตราเดียวกันกับที่ใช้ในการจดทะเบียนรถกระบะ ซึ่งจะถูกกว่าภาษีรถประเภทที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง แต่ถ้าเป็นรถประเภทอื่น ๆ เช่น รถตู้ รถบรรทุก เป็นต้น จะคิดอัตราภาษีตามน้ำหนักรถโดยหารสอง ซึ่งจะทำให้เสียภาษีถูกลงกว่าครึ่งหนึ่ง