ผ่าแผน‘มุนดิฟาร์มา’รุกตลาดยาเมืองไทย

19 มิ.ย. 2560 | 10:00 น.
มุนดิฟาร์มา วางโรดแมพปี 2025 โกยยอดขาย 3,500 ล้าน ชู 3 กลยุทธ์สร้างการเติบโต เล็งซื้อกิจการหรือร่วมทุนพันธมิตรธุรกิจยา ต่อยอดการเติบโต

นายรามัน ซิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มุนดิฟาร์มา จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้วางเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยจะทำยอดขาย 100ล้านดอลล่าร์หรือประมาณ 3,500 ล้านบาทภายในปี 2025 หรือปี 2568 ซึ่งได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจไว้ด้วยกัน 3 แนวทาง คือ 1. การขยายรายการสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์เบตาดีน 2. การเพิ่มรายการยารักษาโรคเรื้อรัง และ 3. การร่วมทุน การซื้อกิจการ หรือซื้อแบรนด์สินค้าอื่นเข้ามาเสริมพอร์ต ขณะเดียวกันกลุ่มมุนดิฟาร์มาได้เตรียมงบประมาณการลงทุนทั่วโลกไว้มากกว่า 1,000 ล้านดอลล่าห์ หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อใช้ในด้านการทำตลาดและการขยายธุรกิจ ซึ่งแต่ละประเทศจะใช้เม็ดเงินการลงทุนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการลงทุน

ขณะที่แผนธุรกิจในประเทศไทยปีนี้ บริษัทได้วางแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ ภายใต้แบรนด์เบตาดีนอีก 8 รายการในเดือนหน้า จากแผนในระยะ 2 ปีข้างหน้าที่จะออกสินค้าเพิ่มอีก 50 รายการ อาทิ ผลิตภัณฑ์ภายในช่องปาก ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิง เป็นต้น จากปัจจุบันมีสินค้าภายใต้แบรนด์เบตาดีน 14 รายการ การขยายตลาดดังกล่าว เนื่องจากเห็นโอกาสทางการตลาด จากแบรนด์เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคคนไทย ประกอบกัผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลตนเองมากขึ้น โดยแนวทางการทำตลาดจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงการสื่อสารผ่านผู้มีชื่อเสียง

[caption id="attachment_164285" align="aligncenter" width="348"]  รามัน ซิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มุนดิฟาร์มา จำกัด[/caption]

สำหรับแบรนด์เบตาดีน ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ทำยอดขายได้มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยผลการดำเนินงานมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะเติบโตเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่ายอดขาย 400 ล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 30% นับจากนี้จนถึงปี 2568 แต่หากมีการซื้อกิจการ การรวมทุน หรือซื้อแบรนด์สินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์เฮลท์โปรดักส์มาเพิ่มในพอร์ตได้ จะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

"ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีดีลทางธุรกิจเกิดขึ้นถึง 40 ดีล โดยมีงบประมาณการลงทุนในแต่ละดีลตั้งแต่ไม่กี่ล้านดอลล่าห์ ไปจนหลายร้อยล้านดอลล่าห์ ซึ่งที่ผ่านมามี 1 ดีลที่ใช้งบลงทุนถึง 1,000 ล้านดอลล่าห์ ซึ่งการทำงานจะมีทั้งในส่วนของทีมโลคัลที่มองหาธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุน รวมถึงดีลในระดับภูมิภาค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร 5 รายที่จะทำธุรกิจร่วมกัน ในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทย"

ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มยา บริษัทก็วางแผนเพิ่มรายการยาใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มโรคเรื้อรัง อาทิ โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันประชาชนอายุยืนยาว ทำให้เกิดสังคมผู้สูงอายุ และมักจะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ดังกล่าว ขณะที่คนเหล่านี้มักจะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อยาเองด้วย โดยตลาดยาต่างๆ ดังกล่าวมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมีอัตราการเติบโตในยากลุ่มดังกล่าวประมาณ4.5% ขณะที่ตลาดรวมทั่วโลกเติบโตในอัตราเพียง 3% เท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560