สศช.ดันแผนประชากร 20 ปี รับมือสูงวัยล้นเมือง-เด็กเกิดน้อย

20 มิ.ย. 2560 | 03:00 น.
ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงอย่างรวดเร็ว ขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานกลับมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เตรียมการสร้างการรับรู้ให้สังคม ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร มาตั้งแต่แผนพัฒนา ฯฉบับที่ 10 -11 และปัจจบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี (พ.ศ 2560-2579 ) โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆนี้

[caption id="attachment_165599" align="aligncenter" width="503"] นายปรเมธี วิมลศิริ นายปรเมธี วิมลศิริ[/caption]

++สูงวัยพุ่งเป็น 1ใน 3
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสศช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 โดยกลุ่มผู้อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีเกิน 10 % ของประชากร และในช่วงแผนพัฒนา ฯฉบับที่ 12 ( พ.ศ. 2560-2564 ) ปลายแผนจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์คือคนสูงวัยมีเกิน 20 % ของประชากร และช่วงปลายของยุทธศาสตร์ชาติคือปี 2579ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดคือมีสัดส่วนผู้สูงวัย30.2% ของประชากร จำนวน 19.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 11.2 ล้านคนหรือ 17.8 %ของประชากรในปี 2560

ส่วนประชากรวัยแรงงาน เริ่มมีแนวโน้มลดลงชัดเจนตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่ที่ประชากรโดยรวมยังขยายอยู่แต่พอปลายแผนยุทธศาสตร์ชาติปี 2579 ประชากรจะเริ่มลดลงเหลือ 65.1 ล้านคน จาก 65.5 ล้านคนในปี 2560 เช่นเดียวกับประชากร วัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี ) ที่เริ่มลดลงจากปี 2560 ที่มีประมาณ 17.5 % ของประชากรหรือ 11.5 ล้านคน มาในปี 2579 จะเหลือ 13.6 % ของประชากรหรือประมาณ 8.8 ล้านคน เทียบกับจำนวนผู้สูงวัย ในปี 2579 ที่มีถึง 30.2%ของประชากร มากกว่าประชากรวัยเด็กกว่า 2 เท่า (อ่านตารางประกอบ)

“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทางประชากร อันเป็นผลจากการที่สตรีวัยเจริญพันธุ์มีบุตรลดลง โดยเด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลงจากปีละมากกว่า 1ล้านคนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเหลือประมาณปีละ 7 แสนคนในปัจจุบัน และมีอายุยืนยาวขึ้นหรือเรียกได้ว่าประชากรไทย “เกิดน้อย อายุยืน” ส่งผลสำคัญให้โครงสร้างอายุประชากรเป็นสังคมสูงวัยก่อนที่จะขยับไปสู่การเป็นประเทศรํ่ารวย หรือเรียกว่า“แก่ก่อนรวย” ซึ่งแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นสังคมสูงวัยเมื่อเป็นประเทศรํ่ารวยแล้ว”

[caption id="attachment_164170" align="aligncenter" width="503"] สศช.ดันแผนประชากร20ปี รับมือสูงวัยล้นเมือง-เด็กเกิดน้อย สศช.ดันแผนประชากร20ปี รับมือสูงวัยล้นเมือง-เด็กเกิดน้อย[/caption]

++ห่วงผลิตผลแรงงาน อนาคต
แต่หากดูความพร้อมเรื่องการออมก็ดี อนาคตยังมีผู้สูงวัยจำนวนมากที่การออมยังไม่มากพอที่จะต้องดูแลชีวิตหลังเกษียณให้มั่นคง ฉะนั้นแนวโน้มภาระผู้สูงอายุจะมากขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระการคลังในการจัดสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่ม โดยประมาณการจะเพิ่มจากปี 2556 ที่ 4 แสนล้านบาทเป็น 1.4 ล้านล้านบาท ในปี 2571

หากไม่มีการบริหารจัดการดูแลที่ดีหรือเตรียมระบบรองรับในอนาคตเรื่องเหล่านี้จะเป็นประเด็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญไม่ต่างกับในหลายๆประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุถือเป็นความท้าทาย จากจำนวนวัยแรงงานและวัยเด็กที่ลดลง ผลกระทบต่อผลิตภาพการผลิตของประชากร และเป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศระยะยาว และในอนาคตไทยอาจต้องประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานรุนแรงมากขึ้น จากสาเหตุที่ประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นสังคมสูงวัยถึงจุดหนึ่งเราอาจต้องพิจารณาให้มีสัญชาติไทยเพื่อทดแทนแรงงานไทยที่ขาด

++คืบหน้าแผนพัฒนาปชก.
จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลมอบหมายให้สศช. จัดทำ (ร่าง ) แผนประชากรเพื่อพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง โดยใน(ร่าง)แผนได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์หลักอาทิ ยุทธศาสต์การส่งเสริมให้ประชากรวัยเจริญพันธุ์มีบุตรเพิ่มขึ้นโดยสมัครใจ โดยพยายามรักษาอัตราเจริญพันธุ์ของคนกลุ่มวัยนี้ให้อยู่ที่ 1.6% เพราะหากยังปล่อยไปเรื่อยๆ ใน 20 ปี จะลดลงอีกมาอยู่ที่ 1.3% ควบคู่กับการพัฒนาด้านคุณภาพมีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ สมอง เรื่องการดูแลคุณภาพผู้สูงอายุ ทำอย่างไรให้เป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง พึ่งตนเองได้ ซึ่งจะต้องให้ดูแลตั้งแต่ที่ยังเป็นวัยแรงงาน การเตรียมความพร้อมเรื่องการออมเงิน ให้มีความมั่นคงเป็นต้น (อ่านต่อล้อมกรอบ : ยุทธศาสตร์ประชากรระยะ 20 ปี)

เลขาธิการสศช. ยังกล่าวถึงความคืบหน้า (ร่าง) แผนประชากร 20 ปี จากที่สศช. ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมาและนำเสนอบอร์ด สศช.ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังรับฟังความคิดเห็นจากบอร์ด สศช.แล้วจะนำมาปรับแก้ให้สมบูรณ์ก่อนเสนอครม.ต่อไป

**ยุทธศาสตร์ประชากรระยะ20ปี
++กรอบการพัฒนา
ระยะที่ 1: 5 ปี (ปี2560-2564) วัยแรงงานลดลงต่อเนื่อง เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ปี 2564 (สัดส่วน 20%ของประชากรรวม) Gen Y เป็นสัดส่วนสูงสุดของวัยแรงงานแต่ทุกช่วงวัยมีปัญหาเชิงคุณภาพ

ระยะที่ 2: 5 ปี (2564-2569) ประชากรเริ่มลดลงหลังปี 2569 เป็นปีแรกที่เด็ก Genใหม่เพิ่มเข้ามา

ระยะที่ 3: 10 ปี (ปี2570-2579) ปี 2574 เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (สัดส่วน 30% ของประชากร) GenZ+ Gen Alpha เข้าสู่ตลาดงานผู้สูงอายุส่วนมากเป็นเจน X

++ 5 ยุทธศาสตร์หลัก
1 .ส่งเสริมประชากรวัยเจริญพันธุ์มีบุตรเพิ่มโดยสมัครใจ โดยเฉพาะกลุ่ม GenY ให้สิทธิลดหย่อนค่าใช้จ่ายสนับสนุนสวัสดิการที่อยู่อาศัยราคาตํ่า เงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า ฯลฯ

2. การพัฒนาและยกระดับผลิตภาพประชากร
- พัฒนาผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพให้มีทักษะที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพ
- กำหนดมาตรการจูงใจดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาทำงานในประเทศ ภายใต้กรอบข้อตกลงอาเซียน

3. พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงอายุ
- บังคับใช้กฎหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชากรวัยเด็ก และวัยแรงงานที่นำไปสู่การตายก่อนวัยอันควร

4. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบการคุ้มครองทางสังคม
-ส่งเสริมการออมในทุกระดับ / จัดระบบบำนาญแบบบังคับ

5. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบการคุ้มครองทางสังคม
- พัฒนาปรับปรุงระบบและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ของคนทุกกลุ่มช่วงวัย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560