‘อาเบะโนมิคส์’ขึ้นปีที่5 เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังห่างไกลเป้า

18 มิ.ย. 2560 | 12:00 น.
นโยบายกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชินโซะอาเบะ ซึ่งรู้จักกันดีในนามนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ขณะนี้กำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่ 5 หลายฝ่ายมองว่า ญี่ปุ่นยังต้องเร่งมือทำอีกหลายเรื่องจึงจะสามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

จากตัวเลขประมาณการณ์ของธนาคารกลางแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ เชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 0.69% ซึ่งต่ำกว่าสถิติ 0.84 % เมื่อตอนขวบปีแรกๆที่มีการนำนโยบายอาเบะโนมิคส์มาใช้ นั่นหมายความว่าแม้ดัชนีทางเศรษฐกิจบางอย่างจะดีขึ้น เช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์นิกเกอิที่เพิ่มขึ้นมา 20,000 จุด และการเพิ่มอัตราการจ้างงาน แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อยู่ในภาวะซึมเซามายาวนาน ก็ยังไม่พลิกฟื้นกระเตื้องขึ้นอย่างที่คาดหวัง

ตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นและบีโอเจ มุ่งเน้นนำลูกศร 2 ดอกแรกมาใช้เป็นหลักนั่นคือมาตรการด้านการเงินและการคลัง บีโอเจใช้เงินไปแล้วถึง 500 ล้านล้านเยนหรือประมาณ 4.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับมาตรการการเงินเช่น การซื้อพันธบัตร หลักทรัพย์ และตราสารหนี้อื่นๆ แต่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของญี่ปุ่นก็ยังคงเรี่ยต่ำอยู่ที่เกือบๆ 0% และอัตราเติบโตเงินเฟ้อก็ยังไม่ถึงเป้าหมาย 2% ส่วนในแง่ของนโยบายการคลัง มีการใช้งบประมาณพิเศษไปแล้ว 7 ครั้งในรอบ 5 ปี คิดเป็นมูลค่ารวมๆกันราว 25 ล้านล้านเยน

นายเรียวทาโระ โคโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารพีเอ็นบี พาริบาส์ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นว่า เครื่องมือทางการเงินและการคลังนั้นควรจะทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องมือปฐมพยาบาลหรือเป็นมาตรการเบื้องต้นในการฉุดเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมา แต่หลังจากนั้นจำเป็นต้องใช้มาตรการด้านอื่นๆเพื่อสร้างความเจริญเติบโตในระยะยาว “การทุ่มใช้งบประมาณ ตลอดจนมาตรการด้านเงินและการคลังอื่นๆอย่างหนักมือจะบิดเบือนการกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจและลดประสิทธิผลการทำงาน การพึ่งพามาตรการเหล่านี้มากเกินไปจะทำให้ญี่ปุ่นละเลยการวางกลยุทธ์สร้างความเติบโตที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว”

[caption id="attachment_164072" align="aligncenter" width="503"] ‘อาเบะโนมิคส์’ขึ้นปีที่5 เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังห่างไกลเป้า ‘อาเบะโนมิคส์’ขึ้นปีที่5 เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังห่างไกลเป้า[/caption]

ทั้งนี้ สำนักวิจัย นิกเกอิ ได้ขอให้นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ 10 คนของญี่ปุ่น จัดอันดับ “หัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” พบว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 24 ล้านคนในปี 2559 ได้คะแนนสูงสุด คือ 4.6 (จากคะแนนเต็ม 5) ตามมาด้วย การปฏิรูปภาษีเงินได้นิติบุคคล (3.3) ซึ่งลดลงมากกว่า 7% อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้องค์กรธุรกิจจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใต้นโยบายอาเบะโนมิคส์ แต่หลายรายแทนที่จะนำเงินไปขยายการลงทุน กลับเก็บเงินสดไว้เฉยๆ สะท้อนจากตัวเลขเงินสดสำรองภายในองค์กรธุรกิจเอกชนของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น 40% คิดเป็นมูลค่ารวม 390 ล้านล้านเยน นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งมือทำ คือการปฏิรูปตลาดแรงงาน การขึ้นค่าจ้างแรงงาน การแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน และการกระตุ้นให้เอกชนเพิ่มการลงทุน รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

สำหรับคะแนนความนิยมในคณะรัฐบาลโดยรวมภายใต้การนำของนายอาเบะ(ในสมัยที่ 2 ของการครองตำแหน่ง) นั้นอยู่ที่อัตราเฉลี่ย 56% นับว่าสูงกว่า ครม.อื่นๆนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ส่วนนายอาเบะเองเพิ่งทำสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่ครองตำแหน่งได้นานที่สุดเป็นคนที่ 3 (นับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่2) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560