ประมงโวยเรือ 2 พันลำข้อมูลมั่ว ค้านพ.ร.บ.เดินเรือ-ม็อบจ่อบุกทำเนียบ

18 มิ.ย. 2560 | 03:00 น.
ประมงพาณิชย์โวย หลังกรมเจ้าท่าเปิดรายชื่อเรือ/เจ้าของเรือ 2,273 ลำที่ไม่มาตรวจเพื่อทำอัตลักษณ์ ภายใน 18 มิ.ย. แจงข้อมูลมั่วเสนอตัดบัญชีทิ้ง ขณะที่ พ.ร.บ.การเดินเรือฯยังวุ่น สภาเกษตรกร-ชาวประมง ยื่น 3 เรื่องใหญ่ให้คมนาคมนำเสนอ ครม.

นับเวลาถอยหลังเหลือไม่กี่วันทั้งเรื่องการตรวจสอบและทำเครื่องหมายหมายแสดงอัตลักษณ์เรือ และการแจ้งรายการเกี่ยวกับเรือตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 22/2560 รวมถึงเรื่อง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่17)2560 ซึ่ง 2 เรื่องนี้ล้วนมีผลกระทบกับชาวประมงทั้งทางตรงและทางอ้อม

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงท้องถิ่น 22จังหวัดชายทะเล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ในช่วงเวลานี้จะมี 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การตรวจสอบและทำเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์เรือและการแจ้งรายการเกี่ยวกับเรือตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2560 โดยให้ผู้ที่มีรายชื่อ 2,273 ลำ ให้มียื่นคำขอและลงทะเบียนกับเจ้าที่ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง หรือศูนย์ pi-po ใน 22 จังหวัด ระหว่างวันที่ 13-18 มิถุนายน 2560 หากผู้ใดไม่นำเรือมาตรวจสอบหรือไม่มาแจ้ง ต้องระวางโทษปรับ 1 หมื่นบาทสำหรับเรือขนาด 10 ตันกรอสและปรับเพิ่มตามขนาดของเรือตันกรอสละ 2,000 บาท และกรณีที่เจ้าของเรือแจ้งรายละเอียดเป็นเท็จจะถูกตัดสิทธิ์ในการขอรับใบอนุญาตทำการประมงเป็นระยะเวลา 10 ปี

"ประกาศรายชื่อ ณ วันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ให้ระยะเวลาเพียง 5 วันเท่านั้น โดยให้เรือกว่า 2 พันลำมารายงานตัว (ดูกราฟิคประกอบ) ถามกลับไปว่าให้เวลาน้อยเกินไปหรือไม่ ที่ผ่านมาทางกรมเจ้าท่า เคยตรวจอัตลักษณ์เรือตามกฎหมายระบุว่าจะต้องใช้เวลากี่วัน กล่าวคือ 2-3 วันสูงสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่ปรากฎว่ากว่าจะตรวจเรือเสร็จใช้เวลา 1-2 เดือน กรมเจ้าท่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ชาวประมงผ่อนปรนให้ไม่อยากให้มีเรื่องบานปลาย"

[caption id="attachment_163987" align="aligncenter" width="503"] ประมงโวยเรือ2พันลำข้อมูลมั่ว ค้านพรบ.เดินเรือ-ม็อบจ่อบุกทำเนียบ ประมงโวยเรือ2พันลำข้อมูลมั่ว ค้านพรบ.เดินเรือ-ม็อบจ่อบุกทำเนียบ[/caption]

นายมงคล กล่าวอีกว่า ข้อมูลที่ออกมานี้มองว่ามั่ว เพราะมีรายชื่อเจ้าของเรือบางรายที่เสียชีวิตแล้ว บางรายโดนเพิกใบอาชญาบัตรเครื่องมือควบคุม หรือเครื่องมือต้องห้าม หรือบางคนขายเรือไปนานแล้ว ก่อนที่ไทยจะถูกสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลือง ดังนั้นทางสมาคมขอให้ตัดบัญชีนี้ทิ้งไปเลย อย่าไปเล่นตามเกมของเจ้าหน้าที่อียูที่เขาเสนออะไรมาก็รับมาปฏิบัติทั้งหมด โดยเฉพาะเวลานี้ใกล้ระยะเวลาที่อียูจะมาตรวจการบ้าน หน่วยงานที่จะต้องแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายวิ่งวุ่นไปหมด ขอเวลาให้ชาวประมงได้หายใจหายคอกันบ้าง

อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประมงที่ได้รับความเดือดร้อนปัญหา พ.ร.บ.การเดินเรือฯ ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีนายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้บริหารระดับสูงมารับเรื่องแทน ได้มีผลสรุปการประชุม 3 ข้อดังนี้ 1.กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 18 ออกไปก่อนไม่น้อยกว่า 1 ปี

2. พิจารณายกเว้นค่าปรับกรณีที่ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่แล้วที่รุกล้ำลำน้ำรวมทั้งเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลและเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลากระชัง และ 3.พิจารณายกเว้นค่าตอบแทนรายปีหรือลดลงสำหรับประชาชนที่มีบ้านเรือน สะพานบันได รุกล้ำลำน้ำ รวมทั้งเกษตรกร ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและเลี้ยงปลากระชังหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ในเร็วๆ นี้ หากเรื่องไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาขอคณะรัฐมนตรี( ครม.)ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ จะมีชาวบ้านและเกษตรกรไปขอความช่วยเหลือจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 มิถุนายน ก่อนกฎหมายบังคับใช้จริง 120 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560