ปฐมบทแห่งแผนทีไออีบี(3) ถ่านหินคำตอบแห่งการสร้างสมดุลย์ผลิตไฟฟ้า

18 มิ.ย. 2560 | 00:00 น.
TP7-3271-AB ที่ผ่านมาได้เขียนถึงภาพรวมการจัดทำแผนพลังงานระยะยาวของประเทศไทย ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปการเริ่มต้นตั้งใข่วางกรอบ “แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (พ.ศ.2558 -2579) หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint : TIEB” ซึ่งได้เริ่มจากวิเคราะห์จุดเริ่มต้นของปัญหาโดยได้ทบทวนถึงจุดอ่อนด้านพลังงานของไทย และได้กล่าวถึงโอกาสของภาคพลังงานของประเทศ ณ เวลานั้น

รวมทั้งกลยุทธ์ที่เป็นก้าวสำคัญด้านพลังงาน (Bold Move) ภายใต้แผน TIEB ที่มีรายละเอียดสำคัญ ได้แก่ 1.ยกเลิกชดเชยราคาพลังงาน ปรับให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามกลไกตลาด 2.ใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศมากยิ่งขึ้น 3.ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพโดยใช้ผลผลิตภาคการเกษตร เพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน 4.เร่งสร้างสมดุลย์ในมิติการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และ 5.ยืดอายุแหล่งทรัพยากรในประเทศ

มาในฉบับนี้ ผมจะขอเจาะลึกไปถึง 1 ในก้าวสำคัญของแผน TIEB นี้ ซึ่งก้าวนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคพลังงานของไทย นั่นคือ การเร่งสร้างสมดุลย์ในมิติการผลิตไฟฟ้า โดยประเด็นที่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง และชี้แจงข้อเท็จจริง ถึงเหตุผลหลักๆ ที่กระทรวงพลังงาน จำเป็นต้องกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะทางเลือกของการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด มีความเป็นมาอย่างไร

ก่อนอื่น ผมต้องขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน ศึกษาถึงภาพรวมการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากทั่วโลก โดยจากข้อมูลของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ International Energy Agency หรือ IEA พบว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการผลิตไฟฟ้า จากถ่านหิน 40.8% ก๊าซธรรมชาติ 21.5% น้ำ 16.4% นิวเคลียร์ 10.6% น้ำมัน 4.3 % และพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพและอื่นๆ รวมกันเป็นพลังงานทดแทน 4.2%

ทั้งนี้ ถ้าจะไล่เรียงถึงการผลิตไฟฟ้าในแต่ละประเทศ จะเห็นว่าถ่านหินยังคงเป็นทางเลือกระดับต้นๆ เช่น ประเทศอินเดีย มีการใช้ถ่านหินสูงถึง 75% ประเทศจีนมีการใช้ถ่านหิน 72% ประเทศออสเตรเลีย มีการใช้ถ่านหิน 62.8% และประเทศเกาหลี มีการใช้ถ่านหิน 42% เป็นต้น และที่ผมฉายภาพดังกล่าวให้ดู ก็เพื่อจะชี้แจงให้เห็นภาพเบื้องต้นว่า ถ่านหิน ยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกในการผลิตไฟฟ้า เพราะยังมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น
เมื่อตัดภาพกลับมาศึกษาถึงภาพรวมสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย จะเห็นว่าในปี 2558 ประเทศไทยมีการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติสูงถึง 64% ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงโดยเฉพาะบางช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซฯ จากแหล่งต่างๆ จะทำให้ประเทศขาดเชื้อเพลิง จึงเป็นที่มาของการวางแผนลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ Power Development Plan : PDP ที่วางเป้าหมายที่ท้าทายไว้ว่าจะต้องลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติให้เหลือเพียง 37% ซึ่งยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักแต่จะส่งผลให้เกิดการกระจายเชื้อเพลิงประเภทอื่นมากขึ้น โดยหัวใจสำคัญของลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ มาจากเหตุผลหลักคือ ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เริ่มลดน้อยถอยลง และหากต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น จะพบกับวิกฤตเรื่องราคาที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

TP7-3271-c จากโจทย์ที่จะต้องเน้นการกระจายเชื้อเพลิงของประเทศ เราจะหันไปหาทางเลือกใดได้บ้างนั้น คำถามคือ หากจะเลือกเชื้อเพลิงใดมาสร้างสมดุลย์การผลิตไฟฟ้าดังกล่าว คงต้องวิเคราะห์ทางเลือกที่มีอยู่ ได้แก่ น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล พลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน เหล่านี้จะใช่คำตอบที่ถูกต้อง และเหมาะสมหรือไม่

สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอ และอยากให้รับทราบคือ ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานได้มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาถึงทางเลือกและการกระจายเชื้อเพลิงต้องคำนึงถึง 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

1.ต้องเป็นเชื้อเพลิงที่มีความมั่นคงต่อโรงไฟฟ้า

2.สามารถบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของชุมชนใกล้เคียงได้

3.ต้องเป็นเชื้อเพลิงที่มีเสถียรภาพ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตกดับ หรือขาดแคลน

4.ราคาค่าไฟฟ้าต้องไม่เป็นภาระต้นทุนต่อภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ซึ่งควรจะต้องช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ (Competitiveness) ถ้าต้นทุนไม่แพง

ซึ่งเมื่อให้พิจารณาครบทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว จะเห็นได้ว่าหนึ่งในตัวเลือกเชื้อเพลิง คือ “ถ่านหิน” ได้ตอบโจทย์แทบทุกข้อไว้ โดยถ่านหิน นอกจากเป็นทางเลือกเชื้อเพลิงหลักของโลกดั่งที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ถ่านหิน ยังมีความมั่นคง เพราะมีปริมาณสำรองจำนวนมากกระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลก ราคามีเสถียรภาพ และเมื่อมาผลิตไฟฟ้าจะมีต้นทุนไม่สูงมากนัก ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันได้ และประเด็นสำคัญถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถป้อนให้โรงไฟฟ้าหลัก ที่สามารถเดินเครื่องได้ 24 ชั่วโมง สร้างเสถียรภาพให้กับระบบการผลิตไฟฟ้า

ในส่วนของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะมีคำถามว่า ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ปลดปล่อยมลสารมาก แต่ปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ในการดักจับมลสาร และมีเทคโนโลยีที่ทำให้การเผาไหม้หมดจรดมากขึ้น โดยทางเลือกโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ปัจจุบันจะได้เลือกใช้เทคโนโลยีซึ่งขณะนี้มีความทันสมัยที่สุดในโลก คือ เทคโนโลยี Ultra Super Critical หรือ USC ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สูงกว่ารุ่นเก่ามาก และพิสูจน์ได้ว่าจะลดการปลดปล่อยมลสาร อาทิ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้ออกสู่บรรยากาศได้เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล โดยเบื้องต้นจากข้อมูลโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะมีค่าควบคุมการปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพียง 50 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 180 ส่วนในล้านส่วน และค่าการปลดปล่อยฝุ่นละอองมีเพียง 30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งดีกว่าค่ามาตรฐานกำหนดไว้ที่ 80 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

TP7-3271-B ความจำเป็นที่ประเทศต้องมีความมั่นคงด้านไฟฟ้านั้น ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพลังงาน เพราะไฟฟ้ามีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อพิจารณาถึงปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ล้วนแต่ต้องพึ่งพาการใช้ไฟฟ้า และจากชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีผลต่อชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ไฟฟ้าก็แทบเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ดังนั้นการสร้างเสถียรภาพด้านไฟฟ้า จึงมีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงด้านพลังงาน และหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ได้กล่าวมา ณ ที่นี้ คือการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง จึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาด้วยข้อเท็จจริงรอบด้าน

ในตอนต่อไป ผมจะกลับมาลงลึกถึงความจำเป็นของโรงไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมในช่วงที่ผ่านมาจนถึงขั้นที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ต้องจัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพี่น้องชาวใต้ ซึ่งนอกเหนือจากที่ภาคใต้ควรจะมีโรงไฟฟ้าเพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานแล้ว ผมจะขอย้ำถึงทางเลือกเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมด้วย

ขอได้โปรดติดตามนะครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560