สร้างกรมธรรม์ แห่งความสำเร็จ ด้วยทัศนคติเชิงบวก ไอที และมิติแห่งการใฝ่รู้

18 มิ.ย. 2560 | 00:00 น.
ผมรู้สึกโชคดีที่ผมเป็นคนทำทุกอย่างด้วยความ “เต็มที่”และส่วนตัวมั่นใจเสมอว่า “ทำได้ดีที่สุด” พอเราเชื่อว่าเราทำได้ความกลัว ความกังวล และความหวั่นเกรงต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นในกระบวนการคิดถึงผลลัพธ์ที่ออกมา แม้ว่าในบางครั้งจะไม่สมบูรณ์หรือมีผิดพลาด แต่เราก็ได้เรียนรู้และยอมรับสิ่งนั้นด้วยความสุขใจบนกรอบพื้นฐานความสมดุล หนึ่งกรมธรรม์ทางความคิดที่ผลิตทัศนคติเชิงบวกและแนวทางความคุ้มครองภูมิคุ้มกันของหัวใจให้พร้อมต่อการดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความแข็งแรง ดร.สมพร สืบถวิลกุล

ผู้บริหารมากความสามารถในวงการประกันภัยกว่า 2 ทศวรรษท่านนี้ ฉายภาพเส้นทางชีวิตและความเป็นมาของตนได้อย่างน่าสนใจว่า หลังจากจบการศึกษาด้านพาณิชย์นาวี จากประเทศอังกฤษในฐานะนักเรียนทุนได้กลับมาทำงานด้านการเรือหลากหลายด้านและหนึ่งในนั้นคือ การเป็นเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายทางทะเลและนี่เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในการนำเอาความรู้จากการศึกษามาผนวกกับองค์ความรู้ใหม่ด้านประกันภัย ต่อยอดสู่โอกาสที่สำคัญในการเข้ามาทำงานที่ทิพยประกันภัยในตำแหน่ง ผู้จัดการสินไหมทางทะเล

MP29-3271-3 ดร.สมพร เล่าต่ออีกว่า ระหว่างการทำงานได้บ่มเพาะการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในมิติประกันภัยมาประมาณ 7 ปี ตนได้รับโอกาสและความท้าทายครั้งใหม่ในการเข้าไปบริหารและวางรูปแบบการจัดการในตำแหน่งกรรมการบริหาร บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และก้าวแรกของการทำงานได้นำเอา “ไอที” เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและวางรากฐานบริษัทฯ โดยตนมองว่า “ธุรกิจประกันภัยเป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้ มีเพียงแต่บริการและข้อมูล ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นที่ดีเราต้องนำเอาไอทีมาประยุกต์ใช้” และผลลัพธ์แรกที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการประกันภัยหลังจากการนำเอาไอทีมาผนวกใช้คือ การเปลี่ยนโฉมกรมธรรม์แบบเดิมในรูปแบบจดใส่กระดาษให้เป็นรูปแบบสลิป ผ่านการใช้เครื่อง EDC แบบแบตเตอรี่ หลังจากนั้นตนได้เปลี่ยนชื่อเครื่องดังกล่าวให้เป็น เครื่อง PVR หรือ Policy Vendor Register เพื่อสร้างความหมายและนัยที่ดีในการใช้งาน

โดยข้อเด่นของการย่อ กรมธรรม์มาเป็นสลิป สามารถออกกรมธรรม์และความค้มุ ครองหลังจากการซื้อขายได้ในทันที โดยรายละเอียดจะเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลได้อย่างฉับไว ลดการใช้ต้นทุนที่สูง ลดปัญหานายหน้าขายแล้วไม่แจ้ง ป้องกันการเคลมเท็จเพิ่มความสะดวกสบายในการทำงานของทีมงาน และที่สำคัญยกระดับภาพรวมของธุรกิจประกันภัยให้ดูทันสมัย คล่องตัวต่อการบริการ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยความเท่าทัน

ระยะเวลากว่า 13 ปีที่บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ดร.สมพร สืบถวิลกุลได้กลับมาดูแลงานที่ทิพยประกันภัยอีกครั้งในบทบาท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญของชีวิต และสิ่งแรกที่ ดร.ท่านนี้ได้เริ่มทำเมื่อเข้ามาบริหารและจัดการงานคือการนำเอา “ไอที” มาปรับใช้ในทุกกระบวนการการดำเนินงานขององค์กร ไม่ว่าจะเป็น เปลี่ยนการทำงานระบบออฟฟิศให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด เช่น การลา การประชุมรวมทั้งการแจ้งยอดขายแบบรายวันซึ่งฉายภาพแบบเรียลไทม์ ไม่เพียงเท่านั้นยังพัฒนาแอพพลิเคชัน Tip Flash Claim ซึ่งสามารถแจ้งเหตุและทำเคลมการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันแอพพลิเคชันดังกล่าวยังระบุอู่ซ่อมรถยนต์ โรงพยาบาลในเครือเพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างฉับไว โดยภาพรวมการพัฒนาทั้งหมดเป็นแนวทางการขับเคลื่อนทิพยประกันภัยให้ก้าวสู่การเป็น “Digital Insurance Company”

MP29-3271-2 และการตอกย้ำในการเป็น ดิจิตอลด้านประกันภัยที่ดีที่สุดนั้น คือ การไม่หยุดนิ่งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่ม ซึ่งในนั้นคือ Tip Lady ประกันรถสำหรับผู้หญิง โดยสินค้าประกันภัยชิ้นนี้เริ่มให้บริการและขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยครอบคลุมและคุ้มครองที่เหนือกว่าประกันรถยนต์ชั้น 1 ทั่วไป อาทิ บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม.ชดเชยค่าเดินทาง 2,000 บาทต่อครั้งระหว่างนำรถเข้าซ่อม และที่สำคัญมีค่าศัลยกรรม 1 ล้านบาทต่อครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถือได้ว่าเป็นการดีไซน์กรมธรรม์เพื่อตอบโจทย์คุณผู้หญิงผู้ใช้รถใช้ถนนในปัจจุบันกว่า 240,000 คันทั่วประเทศได้อย่างครบวงจร เพราะผู้หญิง ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งภาพตัวอย่างผลิตภัณฑ์ล่าสุดดังกล่าวนี้เป็นการเน้นย้ำการดำเนินงานขององค์กรในมิติ ความคุ้มค่าและมีค่าหรือ Value for money ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

นอกจากการพัฒนาองค์กรในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นไอทีหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเรายังมุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น“2 นคราประชาธิปไตย” โดยแบ่งกลุ่มคนทำงานทั้งคนรุ่นดั้งเดิมและคนรุ่นใหม่ให้ทำงานได้อย่างราบรื่นและสอดผสานในทิศทางที่ตัวเองถนัดบนกรอบพื้นฐานความยุติธรรม เท่าเทียมกัน อย่างมีคุณธรรมทั้งนี้เรายังพยายามเติมเต็มความก้าวหน้าและการเจริญเติบโตของสายอาชีพด้วยการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นได้จัดทำ “ทิพย์ อะคาเดมี่” เพื่อให้ทีมงานทุกคนได้เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างเหมาะสม

MP29-3271-4 “ผมรักและชื่นชอบไอทีอยู่เสมอ” ไอทีหรือเทคโนโลยีนั้น คือ เครื่องมือที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน สามารถทำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่เราอยากรู้ อาทิแนวทางการออกกำลังกายแบบง่ายๆ การหาแหล่งข้อมูลดีๆ มาพัฒนาและยกระดับองค์กร ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ทีมงานได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในระบบอินทราเน็ตของบริษัทฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าไอทีจะไหลเทเข้ามาอย่างไม่หยุดนิ่ง แต่สิ่งที่เราต้องพึงปฏิบัติและระลึกอยู่เสมอคือ การมองไอทีและใช้ประโยชน์ให้เป็น ไม่เป็นทาสหรือหลงใหลไปกับสิ่งที่ไม่ดีที่เข้ามา เมื่อเรารู้จักและเห็นถึงประโยชน์ไอที จะทำให้เรามีไอคิว อีคิวและไอเดียใหม่ๆ ในการส่งเสริม สร้างสรรค์และสนับสนุนให้ชีวิตมีความสุข ดร.สมพรสืบถวิลกุล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,271 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560