กนพ.ไฟเขียวเปิดเช่าที่ราชพัสดุเขตศก.พิเศษกาญจน์-นครพนม

15 มิ.ย. 2560 | 11:00 น.
นายกฯนั่งหัวโต๊ะประชุมกนพ. ไฟเขียวเอกชน-กนอ.เช่าที่ราชพัสดุเขตศก.พิเศษชายแดนกาญจนฯ –นครพนม พร้อมโปรโมชั่นยกเว้นค่าเช่า  2 ปีถ้าลงทุนจริงภายในปีนี้ หรือ 1 ปีถ้าลงทุนภายในปีหน้า

วันนี้ (15 มิ.ย.60) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายกฯเน้นทุกหน่วยเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าตามแผนงานที่รัฐบาลวางไว้ และให้ดูแลสิทธิประโยชน์ผู้เข้ามาประกอบการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมทุกฝ่าย

 

[caption id="attachment_163092" align="aligncenter" width="503"] พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[/caption]

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เอกชนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เช่าที่ดินราชพัสดุ ที่ได้มาตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 74/2559 ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีและนครพนม ตามที่อนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการเสนอ รวมทั้งเพิ่มหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่ โดยให้เพิ่มน้ำหนักคะแนนประเด็นความสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมและธุรกิจด้านการเกษตรโดยเฉพาะ SMEs

พร้อมเห็นชอบกำหนดอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียม ดังนี้ จังหวัดกาญจนบุรี ค่าเช่า 1,200 บาท/ไร่/ปี  ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 20,000 บาท/ไร่/50 ปี และจังหวัดนครพนม ค่าเช่า 8,400 บาท/ไร่/ปี ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 140,000 บาท/ไร่/50 ปี  ปรับปรุงอัตราค่าเช่า 9% ทุก 3 ปี  และอัตราค่าเช่าของ กนอ. ลดให้ 30% จากอัตราค่าเช่าของเอกชน ส่วนเงื่อนไขอื่น ๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิมที่คณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว โดยมอบหมายกรมธนารักษ์รับดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ การปรับปรุงมาตรการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก กาญจนบุรี และนครพนม โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ  โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1) หากมีการลงทุนจริง (ปรับปรุงพื้นที่พัฒนาที่ดิน/ก่อสร้างอาคาร/จัดซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปี 2560 (นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้เป็นต้นไป) จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันจัดทำสัญญาเช่า

2) หากมีการลงทุนจริง (ปรับปรุงพื้นที่พัฒนาที่ดิน/ก่อสร้างอาคาร/จัดซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ฯ) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปี 2561 (นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้เป็นต้นไป) จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่จัดทำสัญญาเช่า

ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นภาคเอกชนที่สนใจให้เข้ามายื่นเสนอโครงการลงทุน  ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศเกิดการขยายตัวอันเนื่องมาจากการจ้างงานในท้องถิ่น การลงทุนจัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยเมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าเช่าที่จะยกเว้นให้ในปี 2560 – 2561 ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวแล้ว ในมิติภาพรวมของประเทศภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งในด้านภาษีทางอ้อม และการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น