แบงก์กรุงเทพลุยดิจิตอลสู้ฟินเทคหน้าใหม่

15 มิ.ย. 2560 | 03:20 น.
แบงก์กรุงเทพปรับระบบหลังบ้านเข้าสู่ยุคดิจิตอล รับมือฟินเทคหน้าใหม่แย่งตลาด

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน “เทคโนโลยี” เข้ามามีบทบาทในฐานะ แกนกลาง ซึ่งมีทั้งผู้เล่นรายเก่า อย่างธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ รายใหม่อย่างสตาร์ตอัพ ซึ่งจะเห็นว่าทุกฝ่ายพยายามนำประโยชน์จากเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสนามการเงิน

ธนาคารพาณิชย์เองก็หายใจเข้าออกและทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีมานานเป็น 10 ปี ซึ่งจะเห็นว่าในแต่ละช่วง 10 ปี จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น ในช่วงปี 2503 มีเซมิคอนดัคเตอร์เกิดขึ้น ทำให้มีบัตรเครดิต และใน 10 ปีต่อมา มีการเปลี่ยนมาใช้เป็นเมนเฟรม ทำให้ระบบโอนเงินสะดวกขึ้น และ 10 ปีถัดมา PC ก็เกิดตู้กดเงินเอทีเอ็ม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามจุดที่เป็น Big Bang ที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนจริงๆ คือ อินเทอร์เน็ต ที่ทำให้ธุรกิจขยายตัวมาก ผสานการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนยิ่งทำให้เข้าถึงกระบวนการต่างๆง่ายขึ้น

"ตอนนี้เราอยู่ในช่วง 10 ปีที่สำคัญ เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ มีสมาร์ทโฟน ทำให้เกิดพลังการรับรู้ได้มหาศาล เช่น การใช้เทคโนโลยีพิสูจน์ตัวตนทางชีวภาพ (Biometrics) ลายนิ้วมือ ม่านตา หรือมีระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งล้วนผลักดันให้ฟินเทคแตกตัวและขยายตัวได้อย่างน่าทึ่ง หรือจะเป็นตัวบล็อกเชนที่เป็นเทคโนโลยีอันหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบมหาศาลกับหลายธุรกิจ นับว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งและใกล้ตัวเรา ขอให้เปิดใจยอมรับและเรียนรู้มัน เช่น พร้อมเพย์ ที่กำลังเกิดขึ้น"

ดังนั้นแนวโน้มการให้บริการของธนาคารในปี 2563 ลูกค้ามีความคาดหวังมากขึ้น ต้องการความรวดเร็ว และต้องน่าเชื่อถือและไว้วางใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ทิ้งไม่ได้ และธนาคารจะมองลูกค้าเป็นหลักเป็นจุดศูนย์กลาง โดยให้ความสำคัญกับช่องทางบริการต่างๆ ไม่ลืมความต้องการลูกค้า เช่น มีอวยพรวันเกิดลูกค้า และให้โปรโมชั่นต่างๆ พร้อมกัน

ขณะเดียวกันธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์อะไรก็จะคำนึงถึงโครงสร้างทางสังคม เช่น กลุ่มอายุ เพศ โดยธนาคารกรุงเทพเองกำลังทำระบบหลังบ้าน โดยใช้บิ๊กดาต้า มาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า แนะนำโปรโมชั่น ร่วมกับพันธมิตรระดับโลกศึกษาบล็อกเชน จัดประกวดสตารต์อัพ ลงทุนในสตาร์ตอัพและเทคโนโลยีใหม่ๆจึงนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเหล่านี้เดินหน้าทำต่อเนื่อง

“ตอนนี้มีผู้ลงทุนใหม่ๆในระบบการชำระเงิน เพราะถ้าดูความสนใจลงทุนอะไรในธนาคารพาณิชย์บ้างนั้น ในส่วนธรุกิจให้สินเชื่อ ดูแลบัญชีต่างๆ เงินฝาก กำไรไม่สูงนัก ธุรกิจการเก็บค่าธรรมเนียม บริการธุรกรรมต่างๆ กำไรก็ไม่ได้สูงมากนัก แต่ระบบชำระเงิน การบริหารจัดการทรัพย์สินนั้น มีรายได้สูง จึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจฟินเทคให้ความสนใจและพร้อมจะเข้ามาเล่นในกลุ่มธุรกิจของธนาคารกันมากขึ้น”