ไทยยูเนี่ยนประกาศพันธกิจร่วมกับ SeaBOS เดินหน้าพัฒนาท้องทะเล

14 มิ.ย. 2560 | 08:10 น.
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามเป็นสมาชิกในโครงการ Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS) โดยจะมุ่งมั่นในการพัฒนาการดำเนินงาน รวมทั้งผลักดันให้ทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลร่วมดำเนินตาม โดยมีเป้าหมายในการช่วยให้ทั้งโลกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs)

IMG_5871 SeaBOS เป็นโครงการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นการนำบริษัทอาหารทะเลรายใหญ่ของโลกมาร่วมหาทางออกเชิงวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถตอบโจทย์ประเด็นที่อุตสาหกรรมเผชิญอยู่ ซึ่งในปี 2559 บริษัทอาหารทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 8 แห่ง ซึ่งรวมถึงไทยยูเนี่ยนด้วย ได้ร่วมกันริเริ่มโครงการนี้

ดร. แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า “บริษัทที่ร่วมในโครงการ SeaBOS มีการดำเนินงานอยู่ในทุกทวีป และในทุกภาคของการผลิตอาหารทะเล นับตั้งแต่การจับปลาไปจนถึงธุรกิจการเพาะเลี้ยงน้ำ ในการสร้างความไว้วางใจและนำแนวทางด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับบริษัทของเรา อุตสาหกรรมของเรา และโลกของเรา ไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ของตนเพื่อให้มั่นใจว่า ทะเลของเรามีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต"

ผู้ร่วมลงนามทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตามพันธกิจ ดังนี้
มีการทำงานอย่างจริงจัง เพื่อขจัดผลิตภัณฑ์ที่มาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และการใช้แรงงานทาสในทุกรูปแบบในห่วงโซ่อุปทาน
การใช้และพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพของปลาและวิธีป้องกันการเจ็บป่วยของปลาก่อนการรักษา เพื่อให้สามารถใช้อาหารสัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้อาหารปลาที่มาจากแหล่งที่มีการจับด้วยวิธีการที่ยั่งยืน
การร่วมกับภาครัฐอย่างเข้มข้นในการปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่สำหรับการประมง การเพาะเลี้ยงน้ำ ท้องทะเล และอื่นๆ

พันธกิจ SeaBOS ได้ประกาศออกมาในสัปดาห์เดียวกันกับที่ไทยยูเนี่ยนเปิดเผยรายงานเพื่อความยั่งยืน ฉบับที่สี่ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทตามตัวชี้วัดที่สำคัญและที่เป็นเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ใน SeaChange® ซึ่งเป็นกลยุทธ์ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน และเมื่อเร็วๆ นี้ ไทยยูเนี่ยนได้ให้พันธสัญญาต่อแถลงการณ์ “Tuna 2020 Traceability Declaration” ในงานประชุม World Economic Forum

SeaBOS เริ่มต้นจากการเสวนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้นำธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่การลงนามพันธกิจ 10 ประการในการดำเนินการเพื่อพัฒนาท้องทะเล โดยมีบริษัทผู้ผลิตปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกสองแห่ง ซึ่งได้แก่ ไทยยูเนี่ยน และดองวอน อินดัสทรีส์ บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเทียบจากรายได้รวมสองแห่ง คือ

บริษัท มารูฮะ นิชิโร คอร์ปอร์เรชั่น และบริษัท นิปปอน ซุยซัน ไคชา บริษัททำฟาร์มปลาแซลมอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกสองแห่ง คือบริษัท มารีน ฮาร์เวสท์ เอเอสเอ และบริษัท เซอมัค ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอร์เรชั่น และบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดสองแห่ง คือ บริษัท สเคร็ตติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท นูเทรโก้ และบริษัท คาร์กิลล์ อะควา นิวทริชั่น
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียหลายราย ซึ่งประกอบไปด้วย Stockholm Resilience Centre, Beijer Institute on Ecological Economics, Royal Swedish Academy of Science และอื่นๆ