‘อีวี’ป้ายแดงบุก! ‘ฟอมม์’เคาะราคา 5.5 แสน

16 มิ.ย. 2560 | 04:49 น.
“ฟอมม์” ปลุกกระแสรถไฟฟ้า “อีวี”ลงทุนพันล้านตั้งโรงงานในไทย ผลิตเฟสแรก5,000 คัน รองรับตลาดในประเทศและส่งออก ขายต้นปีหน้า ราคา 5.5 แสนบาทจับมือปั๊ม “บางจาก” สลับแบตเตอรี่ลูกใหม่ให้ลูกค้าแบบเร่งด่วน

รัฐบาลใส่เกียร์เดินหน้าแจ้งเกิดรถพลังงานไฟฟ้า คลอดแพกเกจพิเศษออกมาจูงใจการลงทุน หวังสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ขณะที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและยุโรป เด้งรับนโยบายด้วยเทคโนโลยีต่างกันไปตามที่ตนเองถนัด ไม่ว่าจะเป็น “ไฮบริด” “ปลั๊ก-อินไฮบริด” ส่วนรถพลังงานไฟฟ้า หรือ “อีวี” ยังเร็วเกินไปสำหรับค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่

แม้ค่ายรถยนต์เมเจอร์แบรนด์ ยังไม่ขยับเทคโนโลยีไปถึง “อีวี” เพราะมีลำดับขั้นตามพิมพ์เขียวให้วิ่งตาม แต่นี่ถือเป็นโอกาสการทำธุรกิจของค่ายรถยนต์น้องใหม่จากญี่ปุ่นอย่าง “ฟอมม์” (FOMM) โดย “ฮิเดโอะ ซุรุมากิ”ประธานกรรมการบริหารและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอมม์ คอปอร์เรชัน ชาวญี่ปุ่นเตรียมแผนการลงทุนครั้งสำคัญ ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตแห่งแรก หลังจาก 2 ปีที่แล้วนำต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้ามาอวดโฉมที่งานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2558 (ฟอมม์ไม่มีฐานการผลิตและไม่ได้ทำตลาดที่ญี่ปุ่นมาก่อน)

จุดเด่นของฟอมม์คือ เป็นรถพลังงานไฟฟ้ามีมอเตอร์สองตัวฝังอยู่ในดุมล้อซ้ายขวา สามารถลอยและวิ่งบนน้ำได้ และเคลมว่าเป็น “อีวี” (EV-Electric Vehicle) แบบ 4 ที่นั่งที่ขนาดเล็กที่สุดในโลก

ฟอมม์ใช้เวลาพัฒนาให้รถพลังงานไฟฟ้าถูกต้องตาม พ.ร.บ.รถยนต์ของไทย หรืออยู่ในพิกัดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รย.1) มีส่วนควบครบ ขณะที่กำลังมอเตอร์ไฟฟ้ากระทรวงคมนาคมเพิ่งปรับลดลงมาให้เหลือ 4-15 กิโลวัตต์ ดังนั้นจึงจดทะเบียนวิ่งบนท้องถนนได้อย่างถูกกฎหมาย

“จุดเด่นของฟอมม์คือ ต้นทุนต่อหน่วยการวิ่งถูกกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 10 เท่า และค่าดูแลรักษาระหว่างการใช้งานถูกกว่า 100 เท่า สามารถวิ่งบนน้ำได้ หมดความกังวลเรื่องน้ำท่วม พร้อมราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย โดยจะเปิดขายอย่างเป็นทางการในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ต้นปีหน้า ด้วยราคาประมาณ 5.5 แสนบาท” นายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด หรือ “ฟอมม์” กล่าวและว่า

ตอนนี้ฟอมม์กำลังระดมเครื่องจักรและพัฒนาสายการผลิตที่โรงงงานในนิคมอุตสาหกรรม อมตะนคร จ.ชลบุรี โดยใช้ชิ้นส่วนนำเข้า 30% และชิ้นส่วนภายในประเทศ 70% ซึ่งรวมถึงแบตเตอรีจากบริษัทคนไทย “เบต้า เอ็นเนอยีร์ โซลูชัน” กำลังผลิตรวมเฟสแรก 5,000 คันต่อปี

โดยกลุ่มเป้าหมาย มีทั้งองค์กร หน่วยงานรัฐบาล เอกชน และขายบุคคลทั่วไป เน้นจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 20-30 ปี ตั้งเป้าครองส่วนแบ่งการตลาดในเซกเมนต์รถยนต์นั่งของเมืองไทย 1% ภายใน 3 ปี ด้านตลาดส่งออกจะเริ่มในอาเซียนก่อน ส่วนช่องทางการขาย 50% จะเน้นไปที่ออนไลน์ แต่ยังมีโชว์รูมต้นแบบที่ทองหล่อ และหัวเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศ

“เราเป็นยานยนต์ไฟฟ้ารักษาสิ่งแวดล้อมที่อยากให้คนไทยเป็นเจ้าของได้ง่าย เช่นวางเงินดาวน์ 1 แสนบาท และผ่อน 5,000 บาทต่อเดือน หรือใช้รถไปแล้ว 5 ปีเราจะรับซื้อคืน 1.5 แสนบาท ขณะเดียวกันยังรับประกันอายุแบตเตอรีนาน 10 ปี แต่ในอนาคตจะมีแบตเตอรีเจเนอเรชันใหม่ที่ทำให้รถวิ่งได้ไกลขึ้นและราคาถูกลงแน่นอน”

บริษัทยังมั่นใจว่าการขยายสถานีชาร์จไฟทั่วประเทศของรัฐบาลจะเป็นไปตามเป้าหมาย(ระยะแรก 100 แห่ง) ซึ่งบริษัทได้เซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสถานีบริการน้ำมันบางจาก เพื่อให้เป็นศูนย์รับบริการเปลี่ยนแบตเตอรีให้แก่ลูกค้าที่ไม่สะดวกเสียบปลั๊กชาร์จไฟ ในเบื้องต้นจะมี 50 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับรถพลังไฟฟ้า“ฟอมม์”ใช้เวลาชาร์จไฟเต็มที่ 6 ชั่วโมง รถสามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 150 กิโลเมตร ซึ่งรถหนึ่งคันจะมีแบตเตอรี 4 ชุด ราคารวมประมาณ 2 แสนบาท หรือคิดเป็น 30% ของราคารถ

[caption id="attachment_162575" align="aligncenter" width="503"] ‘อีวี’ป้ายแดงบุก! ‘ฟอมม์’เคาะราคา5.5แสน ‘อีวี’ป้ายแดงบุก! ‘ฟอมม์’เคาะราคา5.5แสน[/caption]

++แบรนด์น้องใหม่รุม
รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจจากแบรนด์ใหม่ๆรวมไปถึงตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ อาทิ บริษัท ซิลิคอนมอเตอร์ส จำกัด ที่นำรถแบรนด์แรตเทิล (Rayttle)จากประเทศจีนเข้ามาโชว์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ปลายปีที่ผ่านมา โดยนำรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น E28 นํ้าหนักตัวรถ 660 กิโลกรัม บรรทุกได้ 200 กิโลกรัม รองรับผู้โดยสารและคนขับรวม 3 คน ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้แบตเตอรี่ลิเธียม ระยะทางวิ่งได้ต่อการชาร์จ 150 กิโลเมตร
ขณะนี้ยังไม่ได้เคาะราคาขาย แต่เบื้องต้นจะขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ที่ลูกค้าเลือกซึ่งจะมี3 แบรนด์ ตั้งแต่แบตเตอรี่ราคาถูกจากจีนไปจนถึงแบบเดียวกับเทสลา

นายอภิราม สีตกะลิน ผู้บริหาร บริษัท ซิลิคอน มอเตอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดในเซกเมนต์นี้เปิดกว้าง ไม่ใช่เฉพาะแค่แบรนด์ยุโรป ,ญี่ปุ่น แต่จะเป็นเวทีของแบรนด์ใหม่ๆเข้ามาสอดแทรกได้ ประกอบกับในอนาคตราคาของแบตเตอรี่ถูกลงเรื่อยๆ ก็จะทำให้ราคารถถูกลง และผู้บริโภคจับต้องได้ อย่างไรก็ดีต้องมีความชัดเจนด้านต่างๆจากภาครัฐ

[caption id="attachment_107366" align="aligncenter" width="335"] อภิเชต สีตกะลิน อภิเชต สีตกะลิน[/caption]

ด้านแบรนด์เกาหลี “เกีย” ที่ทำตลาดโดยตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการอย่าง ยนตรกิจ เตรียมเจรจาบริษัทแม่ เพื่อนำรุ่น “เกีย โซลอีวี” ที่จะเปิดตัวในตลาดโลก เข้ามาจำหน่ายในไทย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะขายประมาณ 1 ล้านต้นๆ
แบรนด์เกาหลีอีกหนึ่งราย “ฮุนได”ได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำเข้ารถยนต์รุ่น ไอโอนิค เข้ามาขายภายในประเทศ โดยรถรุ่นนี้เพิ่งเปิดตัวที่เกาหลีเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีเครื่องยนต์ทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่ไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริดและอีวี

ส่วนอีกหนึ่งเจ้าที่สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศว่าเป็นแบรนด์คนไทยอย่าง วีร่า ก็เร่งมือผลิตรถ VERA V1 (ที่มีพื้นฐานมาจากรถแฮตช์แบ็ก 5 ประตูแบรนด์จีลี่จากจีน)เพื่อให้ทันส่งมอบลูกค้าในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเบื้องต้นจองเข้ามาประมาณ 10 คัน และคาดว่าราคาจากเดิมที่ตั้งไว้ 9.45 แสนบาท จะลดลงเหลือ 8.5 แสนบาท เนื่องจากราคาแบตเตอรี่เริ่มลดลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,270 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560