TCMC ปักธงรายได้นิวไฮ อานิสงส์ซื้อ 2 กิจการโซฟาร์อังกฤษ

16 มิ.ย. 2560 | 01:00 น.
“พิมล” บิ๊กอุตสาหกรรมพรมไทย มั่นใจปีนี้รายได้นิวไฮ ได้ 2 บริษัทลูก “ALSTONS & DMM” เบอร์ 1 โซฟาอังกฤษ เสริมรายได้พรม ชี้เงินบาทแข็ง ไม่กระทบรายได้

นายพิมล ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย ( TCMC ) เปิดเผยว่า การเข้าลงทุนในบริษัทลูก “ ALSTONS และบริษัท DM MIDLANDS ( DMM ) “ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและขายเฟอร์นิเจอร์ประเภทโซฟา ของประเทศอังกฤษ ส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการลงทุน 76 % ซึ่งไตรมาสแรก ปี 2560 ส่งผลให้รายได้รวมบริษัทอยู่ที่ 1,498 ล้านบาท คาดการณ์ว่ารายได้ปีนี้จะทำสถิติสูงสุดทะลุ 5,000 ล้านบาท เป็นปีแรกในรอบ 50 ปี ของกิจการที่เปิดทำธุรกิจพรมไทย ขณะปี 2559 มีรายได้ 3,900 ล้านบาท หลังจากซื้อ ALSTONS เพิ่มขึ้นจากปี 2558 มีรายได้ 2,300 ล้านบาท

[caption id="attachment_162524" align="aligncenter" width="386"] พิมล ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย ( TCMC ) พิมล ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย ( TCMC )[/caption]

ด้านโครงสร้างรายได้ปีนี้มาจากการขายในประเทศ คือการขายพรมตกแต่งบ้าน โรงแรม พรมรถยนต์ สัดส่วน 30-35 % ของรายได้รวม ที่เหลือเป็นรายได้ต่างประเทศ ปัจจุบันรายได้จากพรมรถยนต์ มีสัดส่วน 17 % รถยนต์ 28 % ที่เหลือเป็นรายได้โซฟา จากอังกฤษ

นายพิมล กล่าวว่า การลงทุนบริษัทลูกของอังกฤษ ทั้ง 2 บริษัท ไม่มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและขายโซฟา คนละตลาด โดย ALSTONS เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจ 70 ปี ผลิตและออกแบบโซฟา ผ้า ขายกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ ลวดลาย-สี ไม่ฉูดฉาย เน้นเรียบง่าย ขายในประเทศอังกฤษเท่านั้น เป็นเบอร์ 1 ของอังกฤษที่มียอดขายปีละ 30 ล้านปอนด์

ขณะที่การลงทุนใน DMM มูลค่า 1,608 ล้านบาท ซึ่ ง DMM เปิดทำธุรกิจ 30 ปี ลงทุน 100 % ในบริษัทย่อย 4 บริษัท โดยกลุ่ม DMM ออกแบบผลิต-ขายโซฟา ผ้าและหนัง ที่เน้นกลุ่มวัยรุ่น สไตล์สีสัน ฉูดฉาด ขายในประเทศและส่งออก ใหญ่อันดับ 2 ของอักฤษ มีส่วนแบ่งตลาด 8 % ของตลาดโซฟาในอังกฤษ ยอดขายปีละ 70 ล้านปอนด์ โดย 3 บริษัท คือ AMU , AMX และ AJ จดทะเบียนบริษัทในอังกฤษ ส่วน JA จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่ง AMU-AMX ผลิตขายตามแบรนด์สินค้าของลูกค้าเท่านั้น ส่วนAJ ผลิตและขายแบรนด์ อเล็กซานเตอร์ &เจมส์ ขายในสหรัฐฯ

ประธานกรรมการบริหาร กล่าวอีกว่า บริษัท JA จดทะเบียนในประเทศไทย ผลิต-ออกแบบตามแบรนด์ลูกค้า ตลอดจนแบรนด์ของบริษัทเอง เพื่อการส่งออก มีแผนการบุกตลาดในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ตลาด AEC

“ การผลิตโซฟา จาก JA เป็นสินค้าที่ผลิตในไทย เพื่อการส่งออก ดีไซด์และควบคุมการผลิตจากอังกฤษ ที่เข้ามาดูแลการผลิตในไทย บางส่วนส่งออกไปขายอังกฤษด้วย ซึ่งการลงทุนใน 2 บริษัทเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ทำให้ TCMC เป็นที่ 1 ในอังกฤษ ด้วยขนาดของยอดขายรวม 100 ล้านปอนด์ ส่วนค่าเงินบาทแข็ง ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจาก กู้เงินปอนด์ลงทุนบางส่วน ขณะที่รายได้ขายเป็นเงินปอนด์ บริษัทได้ป้องกันความเสี่ยงไม่มาก เพราะเชื่อว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราว”

นายพิมล กล่าวว่า การลงทุนของ TCMC ยังไม่หยุด แต่จะมองหาโอกาสการซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์ ) ต่อไป เพราะการเทคโอเวอร์ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ที่ต้องศึกษาตัวเลขทางการเงิน ศิลป์การทำให้กิจการที่ซื้อมาแล้ว บริหารต่อไปได้ ให้คนใหม่-เก่า เป็นเนื้อเดียวกัน รวมวัฒนธรรมเข้ากันได้ ให้ทุกคนมาช่วยกันทำงานด้วยหัวใจ การเลือกลงทุนอังกฤษ เนื่องจากมีความมั่นใจอนาคตของอังกฤษ ทั้งด้านการเมืองที่มีความชัดเจน มีเสถียรภาพ โครงสร้างเศรษกิจมั่นคง อีกทั้งยังเป็นประเทศศูนย์กลางของยุโรป ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยว แม้ว่าอังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ต้องใช้เวลาปรับตัว ส่วนเงินปอนด์อ่อน เชื่อเป็นผลกระทบช่วงสั้น แต่เชื่อว่าระยะยาวอังกฤษ ยังน่าลงทุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,270 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560