สสว. เร่งปั้นสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดหวังดันเศรษฐกิจไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

14 มิ.ย. 2560 | 01:30 น.
 

สสว. ยืนยันโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดสำเร็จเกินเป้า  ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,642.43 ล้านบาท ย้ำแผนปี 60 เร่งดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใส่นวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับให้เป็น SME 4.0

16

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  กล่าวว่า โครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด (SME Provincial Champions) นั้นประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในระดับสูง ทำให้ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีรายได้และผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น 4,642.43 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 สสว. ได้ดำเนินงานโครงการ อย่างต่อเนื่อง  โดยเน้นส่งเสริมและผลักดันให้  SME  เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในที่สุด

14

ทั้งนี้ สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ  และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่  สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม  สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์  หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในการตรวจประเมินและวินิจฉัย  สถานประกอบการเชิงลึก  พบว่ากลุ่ม Start Up   ให้ความสำคัญกับการเพิ่มยอดขาย  มากกว่าการเพิ่มผลิตภาพ  ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาส่วนใหญ่  จึงเป็นการพัฒนา Product ให้ได้มาตรฐาน  การพัฒนา Packaging  รวมทั้งกลยุทธ์ทางการตลาด เพราะจะช่วยเพิ่มยอดขายเป็นหลัก

18

ในส่วนของกลุ่ม Rising Star  ที่มีความชำนาญในการขายนั้นมีความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต  หรือลดต้นทุนผลิต  ซึ่งในกลุ่มนี้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของยอดขาย  ร้อยละ 12.88  ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของมูลค่าผลิตภาพ  เพิ่มสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 12.15

ในกลุ่ม Turn Around เป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านยอดขายและด้านการเงิน  ดังนั้นการพัฒนาจึงต้องดำเนินการ  ทั้งเรื่องการเพิ่มยอดขาย  การเพิ่มผลิตภาพการผลิต  และการหาแหล่งเงินทุน  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน

17

ทั้งนี้ในภาพรวมของโครงการฯ  สามารถเพิ่มรายได้และผลิตภาพ ร้อยละ 21.06 ต่อปี  สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้  อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาทางด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ  พบว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ มีรายได้รวม 22,047.17 ล้านบาท  และเมื่อผ่านกระบวนการพัฒนา  ภายใต้โครงการพัฒนาสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด  ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้น  4,642.43 ล้านบาท

11

กุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้กับสินค้าอาหารของเอสเอ็มอี คือ  การมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามมีฉลากข้อมูลครบถ้วน จะช่วยสื่อถึงคุณภาพของสินค้า ช่วยสร้างแบรนด์ และยังเป็นด่านแรกที่ดึงดูดใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อสินค้า  การมีมาตรฐานของสินค้า ที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่จะแข่งขันด้วยราคา และรสชาติอาหารต้องอร่อยถูกปากผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้มีบรรจุภัณฑ์ที่ดี อาหารรสชาติอร่อย มีคุณภาพ มาตรฐานในราคาที่เหมาะสม ก็จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก

เชื่อว่าภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ต่อยอดการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นสากล  พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ยกระดับให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็น SME 4.0 เป็นต้นแบบให้กับเอสเอ็มอีในจังหวัดและนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับจังหวัดต่อไป