เทสลาปรับสถาานี ‘ซูเปอร์ชาร์เจอร์’ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เต็มรูปแบบ

17 มิ.ย. 2560 | 05:30 น.
เพราะตั้งเป้าเป็นที่ 1 ของโลกในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ครัวเรือน หรือแม้กระทั่งกระเบื้องมุงหลังคาที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์“เทสลา” (Tesla) บริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่ผู้คนรู้จักกันดีจากรถยนต์ไฟฟ้า จึงต้องเป็น“ผู้นำ” ในหลายๆเรื่องเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนให้ขึ้นมาเป็นกระแสหลักแทนพลังงานจากฟอสซิลให้ได้ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม

เมื่อเร็วๆนี้ นายอิลอน มัสค์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทสลาประกาศแผนเป็นผู้นำในวงการอีกครั้ง และเป็นการลบคำสบประมาทที่ว่า สถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับรถอีวีของเทสลาที่เรียกว่า สถานี“ซูเปอร์ชาร์เจอร์” นั้น หากยังใช้ไฟฟ้าจากเครือข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางมาเติมให้กับรถ ก็ไม่น่าจะถือว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือช่วยโลกประหยัดพลังงานแต่อย่างใด เพราะโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมากมายก็ยังคงใช้พลังงานฟอสซิล (นํ้ามันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ดี

[caption id="attachment_161895" align="aligncenter" width="503"] เทสลาปรับสถาานี ‘ซูเปอร์ชาร์เจอร์’ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เต็มรูปแบบ เทสลาปรับสถาานี ‘ซูเปอร์ชาร์เจอร์’ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เต็มรูปแบบ[/caption]

ดังนั้น เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีในเรื่องนี้เทสลาจึงตั้งเป้าปรับเปลี่ยนสถานีซูเปอร์ชาร์เจอร์ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็นสถานีที่ไม่ต้องใช้ไฟจากส่วนกลาง (off-grid) นั่นหมายถึงการที่แต่ละสถานีจะต้องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง บริษัทจึงมีแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ที่สถานีซูเปอร์ชาร์เจอร์จำนวน 800 แห่งในเบื้องต้น เพื่อให้สถานีเหล่านี้สามารถผลิตและกักเก็บไฟฟ้าไว้จ่ายให้กับลูกค้าที่นำรถเข้ามาใช้บริการชาร์จไฟได้อย่างเพียงพอ

เทสลาเปิดให้บริการสถานีซูเปอร์ชาร์เจอร์ครั้งแรกในปี 2555 และมีการพัฒนารูปแบบของสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับบรรดารถอีวีในท้องตลาดมาถึง 3 ยุคสมัย ยุคแรกสถานียังต้องใช้ไฟฟ้าจากเครือข่ายข้างนอก ต่อมาก็มีรูปแบบที่ผสมผสาน แต่นับจากนี้ยุคที่ 3 จะเป็นยุคที่สถานีซูเปอร์ชาร์เจอร์สามารถดำเนินการแบบ off-grid โดยสิ้นเชิง ซึ่งความท้าทายก็ยังมีอยู่อีกมาก เช่น ขนาดของแผงโซลาร์เซลล์ที่จะติดตั้งในบางแห่ง จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เทียบเท่าสนามฟุตบอล เพื่อจะสามารถผลิตไฟฟ้ามาให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างเพียงพอ

[caption id="attachment_161896" align="aligncenter" width="503"] เทสลาปรับสถาานี ‘ซูเปอร์ชาร์เจอร์’ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เต็มรูปแบบ เทสลาปรับสถาานี ‘ซูเปอร์ชาร์เจอร์’ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เต็มรูปแบบ[/caption]

ปัจจุบัน เทสลามีสถานีชาร์จแบบเร็วหรือซูเปอร์ชาร์เจอร์ ประมาณ 5,000 แห่งทั่วโลก และมีสถานีแบบใช้เวลาในการประจุไฟนานกว่า (เหมือนเวลาประจุที่บ้าน) เรียกว่าสถานีเดสติเนชัน ชาร์เจอร์ อีก 9,000 แห่งบริษัทวางแผนอนาคตไว้ว่า ภายในปี 2561 บริษัทจะเพิ่มจำนวนสถานีซูเปอร์ชาร์เจอร์และเดสติเนชันชาร์เจอร์เป็น 10,000 และ15,000 แหง่ ตามลำดับ เพื่อรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาที่คาดว่าจะออกมาวิ่งบนท้องถนนทั่วโลกกว่า 200,000 คัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,270 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560