บลจ.กสิกรไทยปันผล 4 กองทุนนอก มูลค่า 545 ล้าน

12 มิ.ย. 2560 | 07:36 น.
บลจ.กสิกรไทย จ่ายปันผลกองทุนรวมต่างประเทศ 4 กองทุน ผู้ลงทุนเตรียมรับเงิน 14 มิ.ย.นี้ มองจีนน่าสนใจลงทุนระยะกลางขึ้นไป ส่วนกองทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกแนวโน้มโตรับนโยบายทรัมป์ ตลาดหุ้นจีนน่าสนใจลงทุนระยะกลางถึงยาว

นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ. กสิกรไทย มีกำหนดจ่ายเงินปันผลกองทุนต่างประเทศจำนวน 4กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส ดัชนีเอ็นดีคิว 100-A(ชนิดจ่ายเงินปันผล) หรือ K-USXNDQ-A(div) ในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 - 31 พฤษภาคม 2560, กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน (K-CHINA) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 - 31 พฤษภาคม 2560, กองทุนเปิดเค โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ หุ้นทุน (K-GINFRA) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 – 31 พฤษภาคม 2560 และกองทุนเปิดเค โกลบอล แอลโลเคชั่น (K-GA) ในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 - 31 พฤษภาคม 2560 โดยทั้ง 4 กองทุนดังกล่าวจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ เวลา 8.00 น. ของวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลพร้อมกันในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 นี้ รวมมูลค่าเงินปันผลทั้งสิ้น 545.78 ล้านบาท

โลโก้ บลจ.กสิกรไทย (3) สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุน K-USXNDQ-A(div) ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา สามารถปรับตัวเป็นบวก 8.02% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 7.99% (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 60) เนื่องจากกองทุนหลักใช้กลยุทธ์การบริหารเชิงรับ (passive) ที่มุ่งหวังให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี NASDAQ-100 ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิง ทั้งนี้ในดัชนีดังกล่าวจะประกอบไปด้วยหุ้นในกลุ่มไอทีเป็นส่วนใหญ่ โดยผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2560 ที่ออกมา หุ้นในกลุ่มไอทีมีผลประกอบการดีกว่าค่าเฉลี่ยและนำเป็นอันดับที่ 1 เมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น จึงส่งผลให้กองทุน K-USXNDQ-A(div) ที่ลงทุนในหุ้นตามดัชนี NASDAQ-100 มีผลการดำเนินงานโดดเด่นในรอบบัญชีที่ผ่านมา

“ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้นักวิเคราะห์กว่า 90% คาดว่า FED น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ตลาดยังคงติดตาม คือความชัดเจนของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกภูมิภาค โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศต่างๆ” นายนาวินกล่าว

ส่วนมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นจีน นายนาวินกล่าวว่า ตลาดหุ้นจีนยังมีความน่าสนใจด้วยมุมมองการลงทุนในระยะกลางถึงยาว โดยเศรษฐกิจจีนขยายตัวดีกว่าคาดในไตรมาส 1/2560 โดย GDP ขยายตัว 6.9% จากปีก่อน จากการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ภาคส่งออกได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก ประกอบกับจีนยังมีมาตรการควบคุมทางการเงิน รวมถึงมาตรการป้องกันการขยายตัวของสินเชื่อที่เร็วเกินไปจนอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้หุ้นจีนยังมีความน่าสนใจในแง่ของระดับราคาที่ปัจจุบันยังซื้อขายอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวและถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

“ด้านผลการดำเนินงานของกองทุน K-CHINA ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 26.72% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 28.90% (ณ วันที่ 31 พ.ค. 60) ทั้งนี้กองทุนหลักมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเล็กน้อย จากกลยุทธ์การบริหารที่มุ่งเน้นการลงทุนแบบหุ้นคุณค่า และการลดสัดส่วนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตที่ผลกำไรบริษัทออกมาดี แต่ราคาแพง ประกอบกับธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานมีผลประกอบการชะลอตัวในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม กองทุนได้รับแรงหนุนจากธุรกิจหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุก่อสร้าง จึงทำให้ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจและสามารถจ่ายปันผลในรอบบัญชีนี้ได้”นายนาวิน กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุน K-GINFRA ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นใกล้เคียงกับดัชนีโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก โดยได้รับอานิสงส์จากการคัดเลือกหุ้นเป็นหลัก โดยผลการดำเนินงานในรอบ 3 เดือน ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 7.77% โดยเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 6.75% (ณ วันที่ 31 พ.ค. 60) ทั้งนี้บลจ.กสิกรไทย ยังมีมุมมองในเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก เนื่องจากมีปัจจัยสนันสนุนจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์

ด้านกองทุน K-GA ซึ่งมีนโยบายกระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 9.08% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 9.37% ทั้งนี้กองทุนได้รับแรงหนุนจากหุ้นทั่วโลกที่ต่างปรับตัวบวก โดยหุ้นหลายประเทศแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย เกาหลีใต้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนราคาตราสารหนี้ ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา