ทางออกนอกตำรา : “นกแอร์”โดนจีนกลืนในไม่ช้า?

10 มิ.ย. 2560 | 07:35 น.
ทางออกนอกตำรา 
โดย...บากบั่น บุญเลิศ

“นกแอร์” โดนจีนกลืนในไม่ช้า?

มหากาพย์แห่งปัญหาของสายการบิน “นกแอร์” ที่ประสพผลสำเร็จในการเพิ่มทุนได้เงินไปกว่า 1,224 ล้านบาท แม้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ดั้งเดิม 2 รายคือ บริษัท การบินไทย กับธนาคารไทยพาณิชย์ ตัดสินใจไม่ใส่เงินเพิ่มทุน ขณะที่กลุ่ม "จุฬางกูร" คือ นายทวีฉัตร จุฬางกูร กับ นายณัฐพล จุฬางกูร 2 พี่น้องในกลุ่มไทยซัมมิทตัดสินใจใส่เงินเต็มเหนี่ยว จนผงาดเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ในสัดส่วนรวม 28.93% และมีคำถามตามมาว่ากลุ่มจุฬางกูรจะต้องทำ TENDER OFFER หรือต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไปหรือไม่

558000010471803

แม้สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะออกมายืนยันไม่ต้องทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ เพราะไม่เกี่ยวกัน  แต่สังคมยังคาใจ และปัญหาการเพิ่มทุนในสายการบินแห่งนี้ยังไม่จบ...

3 มิถุนายน 2560 หลังที่หุ้นเพิ่มทุนใหม่มีการเปิดให้เทรดการซื้อขาย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ เสนอข่าวที่ไต่เส้นลวดมากๆ ว่า  “นกแอร์จ่อเพิ่มทุนซ้ำ” SCB ตัดเงินกู้-กลต.อุ้ม'จุฬางกูร'

เนื้อข่าวอธิบายถึงสาเหตุที่การบินไทยตัดสินใจไม่ใส่เงินเพิ่มทุนนกแอร์ ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายอื่นจองซื้อเข้ามาตามสิทธิ และจองเกินสิทธิทำให้ขายหุ้นได้ 1,224 ล้านบาท ว่าการตัดสินใจทั้งหมดยืนอยู่บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของการบินไทย และหน่วยงานของรัฐเป็นหลักหรือไม่

nok

โดยคณะกรรมการพบข้อมูลทางการเงินของนกแอร์ว่า มีมูลค่าหุ้นทางบัญชีติดลบ จากการขาดทุนติดต่อกันมา 3-4 ปี โดยปี 2557 ขาดทุน 471.66 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 726.10 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุน 2,795.09 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปี 2560 ขาดทุนไปถึง 295.56 ล้านบาท หากมีการใส่เงินทุนลงไปจะทำให้มูลค่าของเงินที่หายไปทันที เพราะมีการนำเงินไปจ่ายหนี้เป็นหลัก

“ฐานเศรษฐกิจ”ยังยืนยันไว้ว่า การใส่ทุนรอบนี้ก็ยังไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา เนื่องจากปัจจุบันนกแอร์มีหนี้ที่ต้องชำระอยู่มาก มีต้นทุนรายจ่ายที่สูงกว่ารายได้จากการว่าจ้างกัปตันที่สูงกว่าสายการบินแม่ มีค่าใช้จ่ายในการเช่าเครื่องบินและค่าซ่อมเครื่องบินกับลุฟฮันซ่าที่ผูกพันอยู่ในสัญญาที่สูงมากๆ

ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมีการวิเคราะห์แล้วพบว่าแม้ว่าจะใส่ทุนไปให้นกแอร์รอบนี้แล้วปัญหายังไม่จบ จะต้องมีการเพิ่มทุนรอบ 2 ในระยะเวลาอันใกล้ไม่ถึง 6 เดือน พิจารณาจากภาระค่าใช้จ่ายของนกแอร์ที่ตกประมาณเดือนละ 400 ล้านบาทเศษ

aHR0cDovL3BlMS5pc2Fub29rLmNvbS9ucy8wL3VkLzM1NC8xNzcxNzczL2ZkYi5qcGc=

ปรากฎว่า มีผู้บริหาร และคณะกรรมการสายการบินนกแอร์ได้โทรศัพท์ต่อว่า กองบรรณาธิการข่าวอย่างมากถึงข้อมูลที่นำเสนอ บ้างว่าไม่จริง บ้างว่าไม่มี การนำเสนอข่าวแบบนี้ทำให้หุ้นตก

ผมพยายามยืนยันว่า นี่คือข้อมูลข่าวที่กองบรรณาธิการได้มาจากสายข่าวที่เป็น deep truths และต้องการนำเสนอข่าวที่ทำให้บรรดานักลงทุน ผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) ที่มีอยู่ 8,642 ราย คิดเป็นสัดส่วน Free float ร่วม 37.01% จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด  8,650 ราย ที่มีการนำเงินในกระเป๋าไปไล่ซื้อหุ้น NOK จากระดับ 4.35-4.95 บาท ได้รับรู้ข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน

มิใช่ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่บางราย ทั้งไทยและต่างประเทศตัดสินใจเทขายหุ้นออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ระดับ 25 บาทลงมากจนถึงระดับ 10-15 บาท หากำไรจากส่วนต่างราคาจากข้อมูลอินไซด์ โดยที่ ก.ล.ต.ได้แต่ดมกลิ่นอันบูดเน่า แต่ทำอะไรไม่ได้ แต่ดูเหมือนจะไม่ถูกใจคนเหล่านั้น แม้ว่าผมจะยืนยันในหลักการทำงานของกองบรรณาธิการว่า “ถูกต้อง อาจไม่ถูกใจ”

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ข้อมูลที่เรานำเสนอไปจะมิได้ทำให้นักลงทุนตระหนก ยังมีการไล่ซื้อหุ้นกันอย่างหนักในระดับราคา 3.96-4.96 บาท บางวันการซื้อขายทะลุไป 2,362 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็เริ่มมีข่าวหนาหูถึงการตัดสินใจนำหุ้นที่จำหน่ายไม่หมด 114 ล้านหุ้น มารวมกับหุ้นใหม่ที่จะขอมติจากที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อขายให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับ บริษัท Henan Civil Aviation Development & Investment Co., Ltd. (HNCA) จากจีน ซึ่งเป็นเจ้าของ 3 สนามบินในจีนและ 1 สนามบินในยุโรป เป็นเจ้าของ แอร์ไลน์ บริษัท ทัวร์และยังมีพันธมิตรธุรกิจกับโรงงานประกอบเครื่องบินในจีน จะเข้ามาเป็นพันธมิตรซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่รอบที่ 2 เพื่อขยายเส้นทางบินไปสู่จีนได้มากขึ้น และจะมีผู้โดยสารชาวจีนเข้ามามากขึ้น

ว่ากันว่าสายการบินนกแอร์ที่มี สมใจนึก เองตระกูล เป็นประธานกรรมการ จะเรียกประชุมคณะกรรมการ ในวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ เพื่อพิจารณาการเพิ่มทุนรอบ 2 หลังการเพิ่มทุนรอบแรกที่ขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมขายไม่หมด เพื่อหาเงินมาทำธุรกิจและการจ่ายหนี้ที่ปลดเปลื้องกันไม่หมด ต้องใช้เงินอีกอย่างน้อย 2,000 ล้านบาท
ถึงขนาดมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า วันที่ 12 มิถุนายนตัวแทนจากเหอหนาน 5 คน จะเดินทางเจรจากับนกแอร์รอบสุดท้าย ถ้าจบก็จะเซ็นสัญญาปกปิดเป็นความลับ ในวันที่ 14 มิถุนายน เพื่อตรวจสอบบัญชีและฐานะทางการเงิน ทั้งนี้ ดีลหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวมีที่ปรึกษาระดับผู้บริหารจากค่ายซีพีช่วยเจรจาอีกทาง

นอกจากกลุ่มจีนแล้วยังมีสายการบินสกู๊ตจากสิงคโปร์ที่เป็นพันธมิตรของนกแอร์อีก 1 รายที่สนใจจะเข้ามาร่วมทุน ในทางข่าวบอกได้ว่า ที่ไหนมีควัน ที่นั่นย่อมมีไฟ แน่นอนว่าการเพิ่มทุนอีกรอบย่อมหมายถึงการไดลูตของผู้ถือหุ้นเดิมลงไปตามสัดส่วน

ในที่สุด นายไบรอัน เลสลี่ เจฟฟรี่ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯว่า การเพิ่มทุนโดยเสนอขายหุ้นออกใหม่ให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (พีพี) นั้น กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการระดมทุนเพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

การแก้ปัญหาด้านการเงินและทุนเรือนหุ้นของสายการบินนกแอร์กำลังจะมีความกระจ่างชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แน่การบินไทยจะตัดสินใจขายทิ้งหุ้นนกแอร์ที่ถืออยู่ 245 ล้านหุ้น...ก็เป็นไปได้

ขณะที่ปัญหานกแอร์ที่ถามโถมเข้ามาก็นำพามาสู่การทำกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ในการซื้อขายหุ้นประจำวัน ผมรู้... อับดุลรู้....ว่าในแต่ละวัน มีผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งของนกแอร์มีการซื้อและขายหุ้นเพื่อทำราคาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากำไรติดกระเป๋าจากบรรดาแมงเม่ากันวันละ 1-5 ล้านบาท
ก.ล.ต.ควรเข้าไปดูว่าหุ้นนกแอร์ควรติดแคชบาล๊านซ์แล้วหรือยัง...

มาตรฐานในการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนที่เกินกว่า 25% จนต้องมีการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์  ควรเป็นเช่นไร...
ดุลยพินิจในเรื่องเหล่านี้ชวนติดตามอย่างยิ่ง...
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศราษฐกิจ/ ฉบับ 3269 ระหว่างวันที่ 11-14 มิ.ย.2560