ปัจจัยด้านองค์กร ขับเคลื่อนการพัฒนา TOD

14 มิ.ย. 2560 | 03:00 น.
tp12-3269-mm พื้นที่สถานีกลางบางซื่อได้ถูกกำหนดให้มีการพัฒนาในลักษณะ TOD (Transit Oriented Development) ขนาดใหญ่โดยใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง นอกจากนั้นแล้วโดยรอบยังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ สายสีเหลืองอีกด้วย ประกอบการการตัดสินใจเร็วๆนี้ในการย้ายสถานีรถโดยสารระหว่างจังหวัดสายเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่เรียกสั้นๆว่าสถานีหมอชิตมาไว้บริเวณตำแหน่งดั้งเดิมซึ่งปัจจุบันถูกใช้เป็นพื้นที่จอดรถ และศูนย์ซ่อมของรถไฟฟ้า BTS เป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางหลักทั้งใน กทม. และระหว่างจังหวัดเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงสถานีรถไฟแห่งใหม่ที่จะรองรับทั้งรถไฟระหว่างจังหวัดและรถไฟความเร็วสูง ถือว่าเป็นการกำหนดตำแหน่ง Hub การเดินทางของประเทศไว้ในพื้นที่ดังกล่าว

ในการพัฒนาพื้นที่โครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาควบคู่กับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ปัจจัยในความสำเร็จในการดำเนินโครงการในรูปแบบดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือหน่วยงานและกระบวนการในการดำเนินงานที่ต่อเนื่องและยืดหยุ่น การพัฒนาพื้นที่สถานีบางซื่อในปัจจุบันยังไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน พื้นที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย พื้นที่โดยรอบและโครงการเกี่ยวเนื่องอื่นๆไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีเหลือง หรือสถานีขนส่งสายเหนือ ล้วนแต่เป็นโครงการภายใต้หน่วยงานอื่นๆในกระทรวงคมนาคม รวมถึงอำนาจในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบและโครงข่ายคมนาคมโดยรอบเป็นของ กทม ถึงแม้จะมีการกำหนดให้สำนักงานนโยบายขนส่งและจราจร(สนข.) ให้ดำเนินการวางแผนออกแบบการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว

การพัฒนาโครงการขนาดนี้จำเป็นต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การออกแบบ การหยั่งความเป็นไปได้ทางธุรกิจ การดำเนินงานเชื้อชวนการลงทุน และบริหารโครงการ ซึ่งหน่วยงานที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่มีความต่อเนื่อง ประสบการณ์ และความสามารถในการดำเนินการได้ ดังนั้นปัจจัยแรกในความสำเร็จคือการจัดตั้งหรือกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงที่มีบุคลากรหรือทีมที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่ 2 เกี่ยวพันกับการสร้างกระบวนการทางกฎหมาย และการร่วมทุนของภาคเอกชนอย่างยืดหยุ่นและเหมาะสม จากรูปแบบการดำเนินโครงการที่ผ่านมาของภาครัฐทั้งหมดยังไม่มีโครงการใดที่มีขนาดโครงการ และความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากรูปแบบการพิจารณาโครงการ และการวิเคราะห์โครงการคมนาคมทั้งหมดจะเป็นไปในรูปแบบที่เป็นการวิเคราะห์โครงการด้านวิศวกรรมเป็นหลัก (Engineering approach) มิได้มีกระบวนการที่สามารถให้หน่วยงานที่รับผิดชอบวางแผนและออกแบบโครงการในรูปแบบการวางแผนธุรกิจได้ (Business approach)

tp12-3269-b ยกตัวอย่างเช่นรูปแบบการพิจารณาการร่วมทุน ในลักษณะโครงการแบบ TOD ขนาดใหญ่มีความจำเป็นต้องแบ่งเฟสการพัฒนา และเปิดเชิญชวนการลงทุน และดำเนินการกับหลายกลุ่มธุรกิจ ดังนั้นรูปแบบการพิจารณาการร่วมทุน หรือการอนุมัติโครงการจำเป็นต้องมีความรวดเร็ว และสอดคล้องกับสถานการณ์ ยกตัวอย่างกรณีพื้นที่สถานีมักกะสันที่มีขนาดการลงทุนขนาดใหญ่มาก และมีความซับซ้อนในขั้นตอนการร่วมทุน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ การแก้ไขกระบวนการดังกล่าวถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการในรูปแบบ TOD และเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ

ประเด็นสุดท้ายคือการออกแบบโครงการและการบูรนาการการออกแบบ โดยส่วนใหญ่หรือโดยทั้งหมดโครงการรถไฟฟ้า หรือโครงการคมนาคมต่างๆจะถูกออกแบบในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการฝั่งคมนาคมก่อนเพื่อดำเนินการอนุมัติโครงการ แผนการพัฒนาพื้นที่ต่างๆถูกแยกออกมาออกแบบภายหลัง ทั้งนี้กระบวนการนี้เป็นไปตามปัญหา 2 ข้อข้างต้นที่กล่าวมา
ดังนั้นรูปแบบแนวคิดในการออกแบบโครงการแบบ TODจำเป็นที่จะต้องออกแบบทั้งระบบขนส่งมวลชนการพัฒนาพื้นที่และพิจารณาความเหมาะสมไปพร้อมๆ กัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560