ถอดรหัสแนวคิด ‘เอนก’ ได้เวลาสร้างสำนึกพรรคการเมือง

11 มิ.ย. 2560 | 00:00 น.
ในขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เดินหน้าเต็มสูบในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ตั้งคณะกรรมการพรรคการเมืองเพื่อการปฎิรูปประเทศ เพื่อพัฒนาพรรคการเมือง และเครือข่ายด้านการเมืองทั้งระบบขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฎิรูปการเมืองไปพร้อมๆกัน

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคการเมืองเพื่อการปฎิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ”เกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งวิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมืองอย่างน่าสนใจ

+ ตั้งวิทยาลัยฯปฎิรูปการเมือง
นายเอนก กล่าวว่า คณะกรรมการพรรคการเมืองเพื่อการปฎิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มีการคุยเพื่อเรียนรู้การทำงานด้วยกันแล้ว 2 ครั้ง จากคณะกรรมการซึ่งมาจาก 3 ฝ่ายประกอบด้วยฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ ฝ่ายพรรคการเมือง และฝ่าย กกต. โดยฝ่ายการเมือง มีนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายนิกร จำนง สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) และ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนฝ่าย กกต. มีนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.

[caption id="attachment_160024" align="aligncenter" width="503"] เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์[/caption]

ในการประชุมทุกฝ่ายมีความเข้าอกเข้าใจกันค่อนข้างดี มีความคิดเห็นที่ใกล้ชิดกันในการที่จะพัฒนาพรรคการเมือง ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่การปฎิรูปการเมือง ปฎิรูปพรรคการเมือง มีพรรคการเมืองเข้ามามีบบทบาทสำคัญที่จะเข้ามาปรับปรุงพัฒนาแก้ไขและยกระดับพรรคการเมืองต่างๆที่มีอยู่มาพัฒนาประเทศ ให้ดียิ่งขึ้น เพราะการปฎิรูปที่ผ่านมานักการเมือง และพรรคการเมืองถูกปฎิรูปโดยคนอื่น ทำให้อาจลืมไปว่าพรรคการเมืองสามารถปฎิรูปตนเองได้เหมือนกัน

“เราจะพยายามทำงานเพื่อปรับปรุงพัฒนานักการเมืองในเชิงบวก มากกว่าในเชิงลบ ซึ่งในเชิงลบคือการอกระเบียบออกฎ กติกา ที่จะทำให้จับผิดนักลงโทษ หรือกล่าวหานักการเมือง จะพัฒนาพรรคการเมืองที่ทำให้ผู้นำพรรค ผู้ปฎิงานในพรรคให้มีความรู้ความรู้ความสามารถ มีสำนักในการเมือง มีความสามารถในการบริหารจัดการ ให้มีสำนึกว่าเราต้องปฎิรูปเสียเอง เป็นอะไรที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย”

ในการจัดตั้งวิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมือง ยังไม่ได้กำหนดว่าต้องเสร็จภายในกี่ปี เพราะเป็นมติที่ประชุมชุดเล็กเท่านั้น ต้องคุยรายละเอียดอีกหลายครั้ง เพราะเรื่องนี้เป็นงานระดับชาติ เป็นการพัฒนาการเมืองและนักการเมือง ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มการเมือง และพรรคการเมืองท้องถิ่นด้วย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงทุน ลงเรี่ยวลงแรงในการสร้างคนที่จะมาทำงานการเมืองให้ประเทศของเรา

นายเอนก กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองหางบประมาณมาเพื่อเลือกตั้ง แข่งขันกันเพื่อเข้าสู่อำนาจ เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้ว คนที่มาในฐานะเป็นรัฐบาล อาสามาทำงานให้บ้านเมืองต้องทำให้สูงสุดมากกว่านี้ จะต้องปฎิรูปบ้านเมืองอย่างไร คณะกรรมการฯจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 2 ให้ตั้งวิทยาพัฒนาพรรคการเมือง เพื่อการปฎิรูปประเทศขึ้นมา ซึ่งในส่วนรายละเอียดจะตั้งคณะกรรมการขึ้นที่ทำงาน และจะมีการประชุมในอีกหลายๆครั้งเพื่อหารายละเอียดมาเสนอชุดใหญ่ เมื่อได้รับความเห็นชอบก็จะดำเนินการต่อไป

“วิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฎิรูป จะสร้างความคิด สร้างสำนึก สร้างทักษะ ให้แก่พรรคการเมืองแล้ว ก็จะสร้างให้แก่ประชาชนที่อยู่แวดล้อมพรรคการเมือง ที่นิยมชมชอบพรรคการเมืองด้วย เพราะพรรคการเมืองต้องแผ่ไปเชื่อมโยงกับประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคด้วย”

+สร้างสำนึกให้คนการเมือง
ส่วนโครงสร้างวิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมืองนั้น ที่เป็นหลักก็จะเป็นนักการเมือง ซึ่งบางอย่างมันก็จะคล้ายๆกับที่สถาบันพระปกเกล้าเคยศึกษาไว้ หรือคล้ายๆกับสถาบันการศึกษา อุดมศึกษา คณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จะทำลักษณะเป็นวิชาเฉพาะวิชาชีพสำหรับคนที่จะทำงานการเมือง จะต้องมีทักษะ มีสำนึก ที่ต้องทำงานใหญ่ เป็นกลุ่มคนที่ต้องทำงานเพื่อชาติ ต้องรับรู้ศาสตร์ต่างๆให้กว้างขวาง ต้องรอบรู้กระบวนการ ต่างๆให้มากมาย

“เราจะไม่ทำเป็นรูปแบบของสถาบันการศึกษา แต่จะเน้นการสร้างคนใหม่ที่จะทำงานการเมือง ไม่ใช่แค่สร้างจิตสำนึก ถ้าเป็นคนเดิมก็จะทำให้เขาเป็นคนใหม่เพราะเป็นการปฎูรูป เป็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ปฎิรูปบ้านเมืองด้วย ขณะเดียวกันก็ปฎิรูปประชาธิปไตยได้ด้วย”

นอกจากนั้นคณะกรรมการฯต้องไปดูงานต่างประเทศ แต่ไม่ใช้งบของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง จะขอความสนันสนุนจากประเทศต่างๆ ที่มีการเมืองที่เข้มแข็งและมีโรงเรียนพรรคการเมือง เพื่อเอามาเป็นตัวอย่าง โดยจะติดต่อทางสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ สถานทูตเยอรมัน สถานทูตจีน

+ผสานรูปแบบทั้งไทย-เทศ
นายเอนก กล่าวว่า แนวคิดจัดตั้งวิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมือง นอกจากทางคณะกรรมการฯมีแนวคิดเสนอจัดตั้งแล้ว ทางกกต.ก็คงคิดอยู่เหมือนกัน เห็นจากที่ กกต.เปิดหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (พตส.) ส่วนหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้าเป็นการอบรมผู้นำหลายๆระดับ และผู้นำที่มาจากหลายๆภาคส่วน รวมทั้งภาคส่วนของการเมืองด้วย แต่ก็ยังไม่ลงไปในเรื่องพรรคการเมือง

“เวลาเราจะทำธุรกิจยังต้องไปเรียนเอ็มบีเอ สร้างเอ็มบีเอเพื่อผลิตนักธุรกิจ จะทำเศรษฐกิจก็นึกถึงเศรษฐศาสตร์ ถ้าเราจะสร้างผู้ทำงานการเมืองจะสร้างพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง เราต้องให้โอกาสเขาในการไปเรียน การที่ผมคิดจัดตั้งวิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมืองและเสนอไป ก็ได้รับการสนับสนุนกับทางพรรคเยอะ คิดว่าบรรยากาศที่จะปฎิรูปและพัฒนาพรรคการเมืองอย่างก้าวกระโดด ไม่มีช่วงไหนที่จะเหมาะเท่าช่วงนี้ การปฎิรูปพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองมีบทบาทที่สูงขึ้น จนกระทั่งเป็นหลักในการปฎิรูปประเทศได้ ซึ่งดูท่าทีจากกรรมการทั้ง 4 คนที่มาจากพรรคการเมืองได้ให้ความสนใจ ชี้ให้เห็นว่าพรรคการเมืองรักดี อยากเรียนรู้ อยากยกระดับอยู่แล้ว

ปัญหาคือทำอย่างไรจะสร้างสำนึก สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้บรรดาคนทำงานการเมือง อันนี้เป็นอะไรที่เราต้องไปคิด ไปไคร่ครวญไปหาประสบการณ์ที่เคยทำมาแล้วในต่างประเทศ ซึ่งการเดินทางไปงานต่างประเทศ ไม่ใช่การไปลอกเลียนแบบประเทศไหน ต้องเอามาผสมให้เหมาะกับไทย”

[caption id="attachment_160023" align="aligncenter" width="503"] เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์[/caption]

** ทุกพรรคทำงานคู่ขนานกระทรวง
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สะท้อนถึงบทบาทของนักการเมืองฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ในปัจจุบันว่า งานส่วนใหญ่โดยเฉพาะการออกกฎหมายเป็นหน้าที่ของข้าราชการ ถ้ามีการตั้งวิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมือง ทางพรรคการเมืองจะมีคณะกรรมการฯศึกษางานทุกกระทรวง และสามารถทำงานได้ทันทีเมื่อได้เป็นรัฐบาล

“ จะเห็นได้ว่า ขณะนี้นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานสำคัญ เพราะส่วนใหญ่ต้องอยู่ในสภา ถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาลก็มีหน้าที่สนับสนุนกฎหมายของรัฐบาล ถ้าเป็นฝ่ายค้านมีหน้าที่ไปคัดค้านกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล แต่ไม่ได้ฝึกว่าจะออกกฎหมายอะไร จะเขียนกฎหมายอย่างไร กฎหมายสำคัญอะไรที่ต้องเขียน งานเขียนกฎหมายจึงอยู่ที่ข้าราชการ ซึ่งที่จริงแล้วยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนโยบายสำคัญๆต้องมาจากพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองต้องเชื่อมโยงกับประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคกาเรมือง นักการเมืองจึงควรจะเป็นคนคิด แล้วส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทางครม.ก็ต้องหารือกับคนในพรรค

ขณะที่ในพรรคการเมืองต้องมีคณะทำงาน ที่ต้องมาคิดเรื่องอุดมการณ์ คิดเรื่องยุทธศาสตร์ แผน 5 ปี หรือ 10 ปี รวมทั้งนโยบายที่พรรคของตนเองจะเป็นรัฐบาล แต่รัฐบาลของเราจริงๆไม่ได้ทำ หรือทำเรื่องที่สำคัญน้อยกว่า อย่างเรื่องรวบรวมคะแนนเสียง ชิงคะแนนเสียง เรื่องการเมืองแง่การแย่งชิงประโยชน์ ชิงตำแหน่ง ซึ่งการเมืองในอีกความหมายหนึ่งคือทำประโยชน์ให้บ้านเมือง แต่พรรคการเมืองไม่โอกาสได้คิดเท่าไร คนคิดอยู่ที่หัวหน้าพรรค ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหัวหน้าพรรคไม่กี่ท่านที่สามารถคิดนโยบายได้มากมาย มีครม.เป็นคนออกกฎหมายตามที่ข้าราชการเขียนมาให้ หรือตามที่องค์การระหว่างประเทศบีบให้เขียนกฎหมาย

ถ้าเราทำวิทยาลัยพัฒนาพรรคการเมืองให้ดี พัฒนาพรรคการเมืองให้ดี สักระยะหนึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคต้องมีคณะกรรมการที่ทำงานควบกับทุกกระทรวง เช่น ขณะนี้มี 16 กระทรวงก็ต้องมีคณะทำงาน16 ชุดทำงานคู่ขนานกันไป ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรมนั้น เข้าใจกฎหมายที่มีมาทั้งหมด เข้าใจนโยบาย และที่มาของกระทรวงนั้น ถ้าจะตั้งรัฐบาลก็ต้องเอาหัวหน้าคณะชุดนี้มาเป็นรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองในอนาคตต้องมีคณะทำงานที่ทำงานดูแลพื้นที่ด้วย เช่นคณะกรรมการภาคเหนือ คณะกรรมการจังหวัด เพื่อจะได้คิดออกว่า ถ้ารัฐบาลได้เป็นรัฐบาลจะบริหารราชการส่วนภูมิภาคอย่างไร จะส่งเสริมท้องถิ่นตรงไหน จะพัฒนาภาคพัฒนาจังหวัด พัฒนาอำเภอย่างไร ต้องใช้ความรู้ในการที่จะบริหารประเทศให้ดี”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560