THE CHANGE AGENT แตกกิ่งประสบการณ์ สร้างโอกาสให้ชีวิตมีความหมาย

11 มิ.ย. 2560 | 01:00 น.
Mind Map หรือกิ่งก้านสาขาความสามารถและประสบการณ์ ไม่ต่างอะไรจากภาพสะท้อนตัวตนหรือ “แบรนด์”ของเรา ที่มีหลายมิติ มีหลายมุมมอง หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าคนอื่นมองเห็นเราจากมุมไหนแต่ถ้าอยากรู้จักเราทั้งหมดต้องมองเราจากระยะไกลเพื่อให้เห็นกิ่งทั้งหมดของชีวิต

ชีวิตของผมเหมือนกับ Mind Map ที่เส้นแต่ละเส้นไม่ได้เริ่มจากจุด A ไปจุด B เป็นเส้นตรงๆ เพียงเส้นเดียวตามแนวคิด Connecting the dots แต่ชีวิตของผมจากจุด A จะมีหลายเส้นเกิดขึ้นอยู่รอบๆ ตัว จากโอกาสหลายๆ โอกาส จากคนหลายๆ คนและความท้าทายหลายๆ อย่างที่เข้ามาต่างกรรมต่างวาระ และแต่ละเส้นก็แผ่ขยายงอกเงยในรูปแบบของมันเอง”

MP29-3269-1 กลิ่นช็อกโกแลตร้อนหอมกรุ่นในบ่ายวันฝนตกคือจุดเริ่มต้นบทสนทนาเรื่องราวชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ “สุธีรพันธุ์ สักรวัตร” หรือ“คุณตูน” อาจารย์ด้านการตลาดบนแพลตฟอร์มดิจิทัล กับแนวคิดการใช้ชีวิตแบบ “ปัจจุบันขณะ” ที่ดูคล้ายกับเซ็น (zen) แต่คือการเตรียมพร้อมปรับตัวรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“ผมมองชีวิตของผมในลักษณะที่ไม่ได้วางแผนแบบลากเส้นตรงไปข้างหน้า ผมใช้ชีวิตแบบปัจจุบันขณะมาตั้งแต่ยังเด็ก ในชีวิตผมผมจำได้ว่าสิ่งที่ผมเรียกว่าการวางแผนและทำได้สำเร็จตามแผนคือการเตรียมตัวสอบตอนม.1 เข้าโรงเรียนสวนกุหลาบ หลังจากนั้นการวางแผนชีวิตแบบข้ามปี การวางแผนและทำให้เป็นไปตามแผนก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย ทุกอย่างถูกสร้างจากมูลเหตุปัจจัยตรงหน้าหลายๆ ครั้ง มีหลายๆ อย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แบบการแตกกิ่งไม้ คล้ายกับ Mind Map ของชีวิต”

ความตั้งใจแรกหลังเรียนจบปริญญาโทด้านการบริหารจากประเทศอังกฤษ คือการสมัครงานในธนาคารสัญชาตฺิอังกฤษในไทยแต่เนื่องจากธนาคารยังไม่ได้ย้ายสำนักงานมาประจำ ณ ตึกแห่งใหม่เอกสารสมัครงานที่เตรียมพร้อมมาอย่างดีถูกนำไปยื่นสมัครงานยังบริษัทเอเยนซีโฆษณาแห่งหนึ่งในตึกเดียวกัน จุดแรกที่ทำให้ Mind Map เส้นทางประสบการณ์ชีวิตของคุณตูนในฐานะ“หนุ่มนักโฆษณา” เริ่มต้นอย่างไม่ได้วางแผนเอาไว้

“ผมเป็นเด็กกิจกรรม ชอบทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียน ได้แก้ปัญหา ตอนเด็กๆ เรามองเป็นความท้าทาย พอโตขึ้นมาทำงานโฆษณา ทำให้ผมคุ้นเคยกับสิ่งที่หลายคนเรียกว่า “ปัญหา” ในรูปแบบที่พวกเราเรียกมันว่า “Brief” คือมองเป็นแบบลักษณะตีโจทย์ที่จะทำให้สมองของเราสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง Brief กับ Solution ใหม่ๆ หลายๆ แบบ นำไปสู่วิธีการกำหนดทางเลือกการโต้เถียงกัน ซึ่งเป็นต้นทางของความคิดสร้างสรรค์สู่การแก้ปัญหานั้นๆ จนสำเร็จ และนั่นคือวัฒนธรรมของสังคมความคิดสร้างสรรค์”

MP29-3269-2 ความท้าทายที่มาพร้อมกับโจทย์และความต้องการใหม่ๆของลูกค้า ทำให้ระยะเวลากว่า 10 ปีในวงการเอเยนซีโฆษณาคือการเริ่มสร้างตัวตนให้เด่นชัดยิ่งขึ้น และการประสานองค์ความรู้จากงานโฆษณาหลายรูปแบบหลอมรวมกับความกระหายในวิธีการทำการตลาดแบบใหม่ๆ ที่ได้รับจากบรีฟจากลูกค้าที่หลากหลายพร้อมๆ กับศาสตร์ด้านการออกแบบที่ติดตัวมาจากการเรียนพื้นฐานสถาปัตย์สมัยมัธยมปลาย และเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าจากการเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์ของตนเอง เกิดเป็นกิ่งก้านสาขาของ Mind Map ที่โดดเด่น เปลี่ยนชายหนุ่มธรรมดาๆ ที่ชื่อ ตูน – สุธีรพันธุ์ ให้เป็นคนโฆษณาและนักการตลาดที่น่าจับตามอง จนได้รับการชวนให้เข้าไปทำงานในบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั้นนำแบบไม่คาดคิดและองค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กร ทั้งสายสื่อสายแฟชั่น และการเงินการธนาคาร

“ผมเชื่อในสิ่งที่เรียกว่าประตูโอกาสผมไม่เคยปฏิเสธคน เรียกผมว่าเป็น Mr.Yes ก็ได้” ลักษณะนิสัยสำคัญของการเป็น“คนที่ไม่เคยปฏิเสธความท้าทายใหม่ๆ”พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและ “การเป็นคนช่างสงสัย” มักจะตั้งคำถามและสมมุติฐานของทุกงานก่อน เพื่อนำมาซึ่งกระบวนการพิสูจน์สมมุติฐานต้นทางสำคัญของการเรียนรู้ ทั้งการตั้งข้อถกเถียงกับคนอื่นๆ การสืบค้นหาข้อมูล การค้นคว้าหาข้อเท็จจริงและเรื่องราวใหม่ๆ เพื่อให้งานที่ทำนั้นมีปลายทางของคำตอบที่ดีที่สุด

“เมื่อเรามีความสงสัย มีความรู้สึกขัดแย้งเกิดขึ้นตรงหน้าเมื่อไหร่ เราต้องพยายามหาคำตอบ พิสูจน์คำตอบเพื่อเอาชนะข้อสงสัยนั้นๆ ซึ่งสิ่งสำคัญมากกว่าการหาคำตอบให้ได้ก็คือการตั้งคำถามที่ดี ในกระบวนการคิดเราจึงต้องเริ่มต้นจากการใช้เวลาในการตั้งคำถามที่ถูกต้องก่อน คนส่วนใหญ่มักจะกระโดดไปหาคำตอบ ซึ่งทำให้ได้คำตอบหรือทางเลือกที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นการตั้งคำถามจึงสำคัญที่สุดในกระบวนการหาคำตอบ”

MP29-3269-3 ความสงสัยในประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ชื่อว่า “โฆษณา” ในวิธีการทำการตลาดแบบเดิม ทำให้คุณตูนก้าวสู่ความสนใจใหม่ๆและเครื่องมือทางการตลาดที่เรียกว่า “New Media” ในยุคแรกเริ่มอย่าง Facebook Twitter และ Foursquare ก็ถูกนำมาใช้จนสำเร็จในบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของประเทศ จนนำมาสู่การพัฒนาเป็นแนวคิดต้นแบบด้าน Digital Marketing ที่ทำให้อีกหลายองค์กรต้องปรับตัวตาม

“ผมเชื่อในกฎ 10,000 ชั่วโมง ทุกคนไม่มีทางประสบความสำเร็จจากการทำงานบนจุดอ่อนของตัวเอง แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการสร้างผลงานจากจุดแข็ง และพัฒนาให้แข็งแกร่งมากขึ้นในทุกๆ วัน”การเป็นกลุ่มคนบนคลื่นแรกๆ ในประเทศไทยที่ปรับตัวและเรียนรู้การใช้งาน New Media ก่อนนำมาใช้ในงานการตลาดจนก้าวมาสู่สิ่งที่เรียกว่า “Digital Media” อย่างเป็นทางการในยุคปัจจุบัน และการจรดปากกาเขียนเรื่อง “Facebook Marketing” ตอนหนึ่งในหนังสือด้านการตลาดดิจิทัลคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณตูนก้าวจากนักโฆษณาเป็น “นักการตลาดดิจิทัล” เต็มรูปแบบ กับการได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาองค์กรต่างๆ รวมถึงจุดเริ่มต้นการเป็นวิทยากรด้าน Digital Marketing บรรยายให้กับผู้ต้องการรู้ ผู้อยากรู้ และผู้ควรที่จะรู้ สร้างแรงบันดาลใจสำคัญให้ผู้เรียนรู้สึกว่าต้องการทำอะไรใหม่ๆ ให้กับองค์กร นำไปสู่ก้าวสำคัญอีกหนึ่งงานในชีวิตคือการร่วมเป็นผู้วางหลักสูตร Digital Marketing ให้กับมหาวิทยาลัย

“แต่ก่อนผมเป็นเหมือนกับซามูไรมีสังกัดในตระกูลต่างๆ ที่มีโชกุนที่ชัดเจนช่วงชีวิตหนึ่งหลังจากตัดสินใจออกจากงานประจำเลือกเดินอยู่บนเส้นทางการเป็นที่ปรึกษามาใช้ชีวิตแบบ “โรนิน” หรือ ซามูไรไร้สังกัดเป็นเวลา 3 ปีกว่าๆ” ทำให้เรายิ่งต้องฝึกฝนวิชาให้พร้อมกับการรบในกระบวนต่างๆ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ตลอดเวลาพร้อมตอบคำถามที่จะเกิดขึ้นทุกวัน ความรู้หรือ “Knowledge” ใหม่ๆ ที่ตกตะกอนในตัวเรา เมื่อผสานกับประสบการณ์จนเชี่ยวชาญ จะพัฒนาเป็น “Wisdom” ที่เป็นของเราเอง มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นลายนิ้วมือ หรือ Finger Print ของเราอยู่ในทุกอย่างที่เราทำ ทุกอย่างที่เรานำเสนอและในทุกการทำงานของเรา ซึ่ง Wisdom ที่เป็นของใครของมันนี้คือ “เสน่ห์” ที่ไม่มีใครเอาจากเราไปได้ เวลาคนอื่นมองเราว่าถ้าเราอยู่ที่ไหน ที่นั่นจะเกิดการเปลี่ยนแปลง มันเป็นความสะใจเหมือนกัน”

สำหรับบางคนเทคโนโลยีอาจสร้างความสุขได้ด้วยการทำให้เรารู้สึกเหมือนร่ำรวยเวลาผ่านความรวดเร็ว ความสะดวกสบายจากอุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านั้นแต่สำหรับคุณตูนการได้ใช้แสงสร้างงานศิลปะผ่านรูปถ่ายด้วยการค่อยๆ บิดกลไกเล็กๆ จากเลนส์กล้อง ใส่รสนิยมของตัวเองลงไปด้วยการกำหนดปริมาณของแสงได้เอง เก็บช่วงขณะหนึ่งของเวลาไว้บนภาพถ่ายคือความละมุนของชีวิตที่สร้างความสุขพร้อมๆ กับการปลูกฝังทักษะการใช้ชีวิตให้กับลูกชายทั้งสองคนที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาด้วยการตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยี ความสุขของธรรมชาติและกิจกรรมรอบๆ ตัว

“ผมหลงใหลในการสร้างการเปลี่ยนแปลง การได้สอนลูก ได้สอนนักศึกษาสอนคนในองค์กร หรือสอนผู้ประกอบการให้พวกเขาได้รู้จักอะไรใหม่ๆ สามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิมได้และเดินหน้าต่อสิ่งเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกว่าเราเป็นสิ่งหนึ่งในจักรวาลที่มีประโยชน์การได้เป็นผู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และมีความสุขในการใช้ชีวิตให้มีความหมาย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560