โฟร์โมสต์เทงบ 15 ล้านพัฒนาคุณภาพนมรับมือเปิดเสรีการค้า

07 มิ.ย. 2560 | 10:15 น.
โฟร์โมสต์ เตรียมพร้อมรับมือเปิดการค้าเสรีภาษีสินค้านมเป็น 0%  ในอีก 8 ปีข้างหน้า  เทงบ 15 ล้าน พัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบและเกษตรกร 4,000 ฟาร์ม

Foremost Business Update (1) ดร. โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ เปิดเผยว่า  ภายในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือปี 2568  ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งจะปลอดภาษีนำเข้าและส่งออกโดยสมบูรณ์ หรือมีอัตราเป็น 0% ส่งผลให้ผู้ประกอบการนมในประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การปรับกลไกการบริหารจัดการนมภายในประเทศให้เป็นไปตามกลไกของตลาดโลก  โดยยึดคุณภาพน้ำนมเป็นมาตรฐานหลักในการกำหนดหรือให้ราคา เพื่อขยายตลาดส่งออกของนมไทยไปยังตลาดโลก ในส่วนภาคเกษตรกรโคนมไทยจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้มีศักยภาพเพื่อเพิ่มโอกาสของนมไทยในการแข่งขันเสรีในตลาดโลก ภาคอุตสาหกรรมต้องมีการปรับมาตรฐานในการผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย รวมถึงการทำการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ในส่วนภาครัฐควรสนับสนุนให้เริ่มปรับกลไก รวมถึงระเบียบข้อกฎหมายในเรื่องการควบคุม เพื่อมุ่งสู่กลไกของตลาดการค้าเสรีและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมในเชิงบูรณาการ

[caption id="attachment_158622" align="aligncenter" width="335"] ดร. โอฬาร โชว์วิวัฒนา ดร. โอฬาร โชว์วิวัฒนา[/caption]

 

โดยบริษัทได้มีการเตรียมรับมือกับการเปิดการค้าเสรีดังกล่าว  ซึ่งในปีนี้ใช้งบลงทุนรวมกว่า 15 ล้านบาท ในการสนับสนุนเกษตรกรโคนมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และการผลิตน้ำนมโคอย่างมีคุณภาพ โดยกิจกรรมที่บริษัทให้ความสำคัญคือโครงการ "โฟร์โมสต์สานพลังประชารัฐพัฒนาเกษตรกรโคนมไทย"  ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำผู้เชี่ยวชาญด้านการทำฟาร์มโคนมจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาถ่ายทอดความรู้ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการทำฟาร์มโคนมมาใช้ในโครงการนำร่องต่างๆ รวมถึงการวางแผนจัดทำระบบการขนส่งน้ำนมดิบเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ นอกจากนี้ยังจัดทำโครงการ “หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ” ที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่บริษัท  องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรโคนมไทยทั่วประเทศ และยกระดับมาตรฐานเกษตรกรรมโคนมและคุณภาพน้ำนมดิบ รวมถึงการส่งเสริมอาชีพพระราชทานการเลี้ยงโคนมให้มีความยั่งยืน

“ปัจจุบันบริษัทได้ทำงานร่วมกับฟาร์มโคนม 4,000 ฟาร์ม  มีจำนวนโคนม 7.3 หมื่นตัว จากจำนวนฟาร์มทั้งระบบ 1.67 หมื่นฟาร์ม และมีโคนมจำนวน 2.4 แสนตัว บริษัทมีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมปีละ 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้รวม ขณะเดียวกันมีการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม 1.1 หมื่นตัน จากปริมาณการนำเข้าของประกอบการทั้งระบบ 5.5 หมื่นตัน  การเปิดการค้าเสรีอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยเสียดุลการค้าได้  หากไม่ปรับตัวรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว  แต่ประเทศไทยยังมีเวลา 8 ปีในการเตรียมความพร้อมและรับมือ”

โฟร์โมสต์เทงบ 15 ล้านพัฒนาคุณภาพนมรับมือเปิดเสรีการค้า

โดยเป้าหมายการผลิตน้ำนมดิบในปีนี้ บริษัทคาดหวังว่าเกษตรกรโคนมไทยภายใต้โครงการ "โฟร์โมสต์สานพลังประชารัฐพัฒนาเกษตรกรโคนมไทย" จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบคุณภาพเฉลี่ยจาก 13 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน เป็น 18 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน  ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรโคนมในโครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 45 ล้านบาทต่อปี ภายใต้ภาพรวมอุตสาหกรรมนมในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทเห็นว่า ปัจจัยที่จะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมนมเติบโตได้เพิ่มขึ้น คือการยกระดับอุตสาหกรรมนมทั้งห่วงโซ่อุปทาน เริ่มจากการสนับสนุนให้เกษตรกรโคนมแข่งขันกันด้วยคุณภาพ โดยผลักดันให้เกษตรกรมีการพัฒนาศักยภาพอยู่ตลอดเวลาเพื่อการผลิตน้ำนมโคคุณภาพให้กับผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาและยกระดับการผลิต การขนส่งและจัดจำหน่าย สนับสนุนให้มีการเปิดเสรีด้านกลไกราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้อุตสาหกรรมมีการปรับตัวตามกลไกราคาของตลาดการค้าเสรีและอุตสาหกรรม ในราคาที่แข่งขันได้เพื่อพร้อมรับการเปิดเสรีการค้า รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมุ่งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในเชิงบูรณาการ

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมนมทั่วโลกในปี พ.ศ.2559 มีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัดจากปริมาณความต้องการบริโภคน้ำนมทั่วโลกที่มีสูงถึง 182.29 ล้านตัน หรือคิดเป็นการเติบโต 1.6% จากปีก่อนหน้า โดยประเทศอินเดียมีการบริโภคน้ำนมสูงที่สุดคือ 62.75 ล้านตัน รองมาคือสหภาพยุโรป 34 ล้านตัน และสหรัฐอเมริกา 26.52 ล้านตัน ส่วนประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีการบริโภคนมพร้อมดื่มอยู่ที่ 1.046 ล้านตัน โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.087 ล้านตัน หรือเติบโตขึ้นราว 1.67% กล่าวคือคนไทยดื่มนมเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ลิตรต่อคนต่อปี

ในขณะที่ภาพรวมการผลิตน้ำนมดิบพบว่า ในปีที่ผ่านมาทั่วโลกสามารถผลิตน้ำนมดิบได้ถึง 499 ล้านตัน โดยสหภาพยุโรป สามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุด ในปริมาณ 151.60 ล้านตัน รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตน้ำนมดิบได้ในปริมาณ 96.34 ล้านตัน และตามด้วยประเทศอินเดีย ที่ผลิตน้ำนมดิบได้ในปริมาณ 68 ล้านตัน โดยในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุด วันละ 3,300 ตัน หรือปีละประมาณ 1.20 ล้านตัน รองมาคือเวียดนามวันละ 3,205 ตันหรือปีละประมาณ 1.17 ล้านตัน และอินโดนีเซียวันละ 2,334 ตันหรือปีละประมาณ 0.85 ล้านตัน

ส่วนปีที่ผ่านมาประเทสไทยมีปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมกว่า 2.31 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.64  หมื่นล้านบาท ส่วนการส่งออกมีปริมาณกว่า  1.63 แสนตัน เติบโตขึ้น 13.63% และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์ส่งออก 6,995 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9.88% ทั้งนี้ ในปี 2560 คาดว่า การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์นมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ มีการขยายกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเปิดเสรีการค้านี้เป็นโอกาสสำคัญในการขยายตัวของอุตสาหกรรมนมของประเทศไทย หากมีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมอุตสาหกรรมนมไทยจะสามารถมีอำนาจการต่อรองในเชิงธุรกิจกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญในเวทีโลก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้ว อุตสาหกรรมนมไทยมีความได้เปรียบในด้านศักยภาพการผลิตอีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง