พิษกาตาร์ลามธุรกิจการบิน จับตาผลกระทบตลาดLNG

07 มิ.ย. 2560 | 06:09 น.
วันนี้ (7 มิ.ย. 60) - หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่า การประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ โดยซาอุดีอาระเบียและอีก 3 ประเทศพันธมิตรในตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อียิปต์ และบาห์เรน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ส่งผลกระทบโดยตรงทางเศรษฐกิจตั้งแต่เช้าวันอังคารที่ผ่านมา (6 มิ.ย.) เริ่มตั้งแต่การขนส่งทางอากาศ โดยสายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์ส และสายการบินเอมิเรตส์ ของยูเออี ได้ระงับเที่ยวบินทั้งที่ไปและออกจากเมืองโดฮา นครหลวงของกาตาร์ จากเดิมที่เคยบินทุกวันๆวันละ 4 เที่ยว

ขณะที่สายการบินโลว์คอสต์อย่างฟลายดูไบ และแอร์อาระเบีย ก็ยกเลิกเที่ยวบินเช่นกัน ส่วนสายการบินอื่นๆ รวมทั้งกัลฟ์แอร์ของบาห์เรน และอียิปต์แอร์ คาดว่าจะมีมาตรการลักษณะนี้ตามออกมาเช่นกัน นอกจากนี้ทั้ง 4 ประเทศยังประกาศปิดน่านฟ้าสำหรับกาตาร์ แอร์เวย์ส สายการบินแห่งชาติของประเทศกาตาร์ ที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเป็นผู้เสียประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากกาตาร์ แอร์เวย์ส ต้องระงับทุกเที่ยวบินไปยังเมืองใหญ่อย่าง ดูไบ อาบูดาบี ริยาด และไคโร ที่ในภาวะปกติมีเที่ยวบินไปกลับวันละหลายสิบเที่ยวบิน

VlootC-live

ปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับกาตาร์ แอร์เวย์ส คือการถูกปิดน่านฟ้าไปยัง 4 ประเทศจะทำให้ทางสายการบินจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางบิน ซึ่งหมายถึงระยะเวลาเดินทางและต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของประชาชนซาอุดีอาระเบียได้ประกาศให้ประชาชนของตนในกาตาร์เวลานี้ เดินทางออกจากกาตาร์ภายใน 14 วัน และชาวกาตาร์ก็มีเวลา 14 วันเท่ากันในการเดินทางออกจากซาอุดีอาระเบีย ข่าวระบุว่าหากอียิปต์ประกาศใช้มาตรการเดียวกันอาจมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากปัจจุบัน มีคนอียิปต์ทำงานอยู่ในกาตาร์ราว 180,000 คนโดยอยู่ในสาขาวิชาชีพต่างๆ อาทิ วิศวกร แพทย์ นักกฎหมาย และช่างก่อสร้าง การโยกย้ายแรงงานกลับประเทศฉับพลันจะก่อให้เกิดสุญญากาศในตลาดแรงงานและบรรดาบริษัทนานาชาติที่เป็นนายจ้างของบุคลากรเหล่านี้ในกาตาร์

นอกจากนี้ ตลาดกำลังประเมินสถานการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อตลาดก๊าซธรรมชาติอย่างไรหรือไม่ เนื่องจากกาตาร์เป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)รายใหญ่ของโลก การตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ของทั้ง 4 ประเทศอาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางการขนส่งก๊าซแอลเอ็นจี โดยบาห์เรนได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะปิดเส้นทางการขนส่งทุกเส้นทาง ทำให้ผู้ค้าอยู่ในภาวะต้องระวังรอดูสถานการณ์ แต่ก็เตรียมพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ที่ว่าปริมาณการส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีจากกาตาร์สู่ตลาดภายในภูมิภาคอาจจะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ลูกค้ารายใหญ่ของกาตาร์ในญี่ปุ่นและอินเดียได้รับการยืนยันแล้วว่าจะได้รับส่งมอบก๊าซแอลเอ็นจีตามปกติ นักวิเคราะห์ยังคาดหมายด้วยว่า กรณีที่กาตาร์ระงับการส่งมอบหรือปิดทางลำเลียงก๊าซแอลเอ็นจีให้กับ 4 ประเทศคู่พิพาท ก็อาจมีการผลักดันปริมาณแอลเอ็นจีเข้าสู่ตลาดอื่นๆมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดยุโรป ขณะที่ 4 ประเทศคู่กรณีของกาตาร์อาจหันไปหาแอลเอ็นจีจากแหล่งอื่นๆทดแทน อาทิ สหรัฐอเมริกา