IRM เตือนเจ้าของร่วมศึกษาหน้าที่กรรมการคอนโดมิเนียม

06 มิ.ย. 2560 | 10:05 น.
อินเตอร์เรียลตี้แมเนจเม้นท์ เผยมีผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดจำนวนมากไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของกรรมการอาคารชุด ชี้มีบทบาทสำคัญต่อการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม เตือนเจ้าของร่วมศึกษาหน้าที่กรรมการและร่วมกิจกรรมประชุมใหญ่

นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ เรียลตี้แมเนจเม้นท์ จำกัด (IRM) และอดีตนายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าตามที่การอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมอย่างสูงในสังคมเมืองไม่เฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครเท่านั้นแต่จังหวัดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของภูมิภาคและเมืองท่องเที่ยวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเพื่อก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมาก แต่การอยู่อาศัยในอาคารที่มีคนจำนวนมากจำเป็นต้องมีการกำหนดกฎกติกาและข้อบังคับในการอยู่ร่วมกัน โดยในแต่ละอาคารจะมีการเลือกตั้งกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินการต่าง ๆ แทนผู้อยู่อาศัยดังนั้น เมื่อซื้อคอนโดมิเนียมแล้วจะต้องใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งตัวแทนหรือกรรมการ ซึ่งในกฎหมายอาคารชุดกำหนดไว้ว่าในแต่ละอาคารจะต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน และไม่เกิน 9 คน ทั้งนี้ กฎหมายได้ระบุให้กรรมการต้องมีคุณสมบัติสำคัญ ๆ อยู่ 3 ประการ คือ 1.จะต้องเป็นเจ้าของร่วมหรือคู่สมรสเจ้าของร่วม 2.หากเจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์หรือไร้ความสามารถจะต้องมีผู้แทน3.ในกรณีที่เป็นรูปของนิติบุคคลจะต้องมีตัวแทนของนิติบุคคลมาเป็นกรรมการ

[caption id="attachment_157946" align="aligncenter" width="335"] นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ[/caption]

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรรมการจะมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วก็ไม่สามารถเป็นกรรมการได้ เนื่องจากจะต้องมีการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ หากนำใครมาเป็นกรรมการโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้แล้วยังมีประเด็นหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้คือลักษณะต้องห้ามของการเป็นกรรมการอาคารชุดคือ 1.ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ   2.ในการเป็นกรรมการหรือผู้จัดการนิติบุคคลจะต้องไม่เคยถูกไล่ออกจากที่ประชุมใหญ่      3. ไม่เคยต้องโทษยกเว้นในกรณีที่เป็นลหุโทษและก็ไม่เคยถูกที่ประชุมใหญ่ให้ออกหรือไล่ 4.การพ้นจากตำแหน่งกรรมการมีดังนี้คือ ครบวาระ เสียชีวิต และลาออก

นายธนันทร์เอก เปิดเผยเพิ่มเติมถึงบทบาทและหน้าที่ของกรรมการอาคารชุดว่า เมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้วจะต้องทำหน้าที่ออกกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้การอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมเป็นไปตามขอบเขตของพระราชบัญญัติอาคารชุดเพื่อให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนำไปปฏิบัตินอกจากนี้แล้วยังมีหน้าที่อนุมัติค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในอาคารชุด และมีหน้าที่ในการวินิจฉัยและตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอาคารชุดรวมทั้งมีอำนาจพิจารณาชี้ขาดการกระทำใด ๆ ต่อทรัพย์ส่วนบุคคล ที่มีความเสี่ยงต่อโครงสร้างของอาคารหรือทรัพย์สินส่วนกลาง และการกระทำใด ๆ ของผู้อยู่อาศัยที่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของนิติบุคคล รวมทั้งหน้าที่อื่น ๆ ที่ทำให้การอยู่อาศัยในอาคารเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้น นอกจากจะต้องเรียนรู้เรื่องบทบาทหน้าที่ของตนเองในการอยู่อาศัยในอาคารชุดแล้ว ยังจำเป็นต้องรู้ว่ากรรมการเป็นใครและมีบทบาทสำคัญอย่างไร ถ้าเป็นไปได้จะต้องเข้าร่วมประชุมใหญ่ทุกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมามีเจ้าของร่วมจำนวนไม่น้อยไม่ใส่ใจกับกิจกรรมต่าง ๆ ในอาคาร เนื่องจากมีภารกิจอื่น ๆ หรือบางคนเพิกเฉยกับการเชิญร่วมประชุมใหญ่หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในอาคาร เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ หากเจ้าของร่วมหรือลูกบ้านในคอนโดมิเนียม ไม่เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือประชุมใหญ่วิสามัญในระหว่างปี ท่านจะเสียสิทธิ์ ดังนี้

1. ไม่ได้คณะกรรมการที่มีคุณสมบัติ ตามที่เราต้องการ  2. ถ้ามีการปรับค่าใช้จ่ายส่วนกลางขึ้นจะเสียสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นว่าทำไมต้องปรับขึ้น และจะต้องปฏิบัติตามมติที่ประชุมใหญ่  3.หากมีการกำหนดระเบียบ กติกาในการอยู่ร่วมกัน จะเสียสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นเพื่อจะคัดค้านหรือเห็นด้วย 4.หากเจ้าของร่วมไม่พอใจทีมบริหารจัดการ ในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด และบัญชีการเงิน หากท่านไม่เข้าร่วมประชุมก็จะต้องทนรับปัญหาต่อไป ดังนั้น ผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดจะต้องใส่ใจกับการประชุมใหญ่และเรียนรู้ถึงบทบาทกรรมการ เนื่องจากมีความสำคัญต่อการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม