กรอ.เร่งเครื่องไฟเขียวตั้งโรงงาน

06 มิ.ย. 2560 | 08:29 น.
กรอ.เร่งกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมเร่งจดประกอบกิจการโรงงาน เผยจะอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อลดอุปสรรคต่อการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ โดย 5 เดือนแรกของปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จดประกอบและขยายกิจการโรงงานมากสุด
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า จากสถิติการขออนุญาตโรงงาน (ร.ง.4) ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2560 มีการจดประกอบและขยายกิจการ 1,975 โรงงาน แรงงาน 82,610 คน มูลค่าการลงทุนรวม 167,283 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขอใบอนุญาต ร.ง.4 มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1.อุตสาหกรรมอาหาร 284 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 23,768 ล้านบาท 2.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 186 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 7,327 ล้านบาท 3.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 160 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 8,905 ล้านบาท 4.อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะ/อุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 153 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 14,209 ล้านบาท และ5. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ 153 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 5,135 ล้านบาท

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญระดับสูงต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้จำนวนแรงงานมากที่สุด มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในบรรดาสาขาต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องอาหารและวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มีความหลากหลาย แต่มูลค่าการส่งออกอาหารคิดเป็น 6-7% ของ GDP เท่านั้น

ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงระบบการผลิตให้มีการใช้นวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่ามากขึ้น นักลงทุนจะต้องหันมาพัฒนาและต่อยอดเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงเทคโนโลยีด้าน IT และนวัตกรรมที่ผลักดันและสนับสนุนรูปแบบของอุตสาหกรรมการแปรรูป เพื่อให้เกิดศักยภาพในการปรับใช้ได้อย่างสูงสุดโดยไม่เกิดปัญหาขึ้นทั้งทางด้านบุคลากรและทรัพยากรเพื่อสร้างการทำงานที่ยั่งยืน

S-Curve อาหารแปรรูป 2 โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีแนวทางในการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม อาทิ การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาต อนุมัติเร่งให้มีความรวดเร็วมากขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve รวมถึงการช่วยแก้ไขกฎกติกาที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของผู้ประกอบการ พร้อมให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงการต่างๆ จำนวนมาก

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในไตรมาส ที่ 3-4 ของปี 2560 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์/ ผลิตภัณฑ์เคมี อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ/ผลิตภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเครื่องจักรและเครื่องกล ซึ่งมียอดการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี รวมถึงยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและบางรายอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่ากับการลงทุน