เกษตรกรฮือต้านทรัมป์กดดันไทยนำเข้าชิ้นส่วน-เครื่องในหมู

05 มิ.ย. 2560 | 10:28 น.
สมาคมผู้เลี้ยงสุกร เตรียมลุกฮืออีกรอบ ทำหนังสือค้านสหรัฐฯกดดันไทยนำเข้าชิ้นส่วน  เครื่องในหมู ชี้กระทบวงจรผู้เลี้ยงทั้งประเทศ จับตากรมปศุสัตว์ ศึกษาสารตกค้างเครื่องในหมูเปิดทางนำเข้า ขณะเกษตรกรผวาเร่งขายหมู ทำราคาตก

นายสุรชัย สุทธิธรรม  นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สมาคมเตรียมยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงจุดยืนต่อกรณีที่ทางสหรัฐอเมริกาโดยนาย โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ  จะกดดันให้ไทยเปิดอนุญาตให้นำเข้าชิ้นส่วนสุกรที่ไม่เป็นที่ต้องการบริโภคของชาวสหรัฐฯ เช่น เครื่องใน หัว ขา ซึ่งหากทางการไทยยินยอมก็จะส่งผลให้สุกรภายในประเทศของไทยตกต่ำลงเหมือนสุกรภายในประเทศของเวียดนามที่เปิดนำเข้ามาทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มราคาตกต่ำลงเหลือเพียง 1 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมและส่งผลต่อผู้เลี้ยงสุกรทั้งวงจรโดยตรง

ดังนั้นสมาชิกของสมาคมเห็นร่วมกันว่าจะเดินหน้าคัดค้านเรื่องนี้ต่อไป โดยจะนำหนังสือแสดงเจตนารมณ์มายังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ   กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ไม่ให้มีการเจรจาเพื่ออนุญาตในกรณีดังกล่าวหากทางสหรัฐส่งสัญญาณมาก็ตาม และหากไทยจะเปิดให้นำเข้าทางสมาชิกก็ต้องแสดงออกถึงจุดยืนอย่างถึงที่สุด อาจต้องรวมตัวกันมาเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อคัดค้านเรื่องนี้

โรงเลี้ยงหมู (10) ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบของสารตกค้างที่อาจอยู่ในเครื่องในหมูโดยจะดูแลให้สอดคล้องกับกฎระเบียบสุขอนามัยเนื่องจากการเลี้ยงหมูสหรัฐฯนั้นมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงที่เป็นสารต้องห้ามในประเทศไทย ดังนั้นประเทศไทยจะต้องศึกษาผลกระทบดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบเพราะคนไทยมีการบริโภคเครื่องในหมูส่วนคนสหรัฐฯไม่บริโภคเครื่องใน

สำหรับสถานการณ์ราคาสุกรในประเทศขณะนี้ เข้าสู่ฤดูฝนและมีมรสุมเข้าในบางช่วงเป็นอุปสรรคต่อการจับจ่ายโดยเฉพาะเขตรอบนอก ประกอบกับช่วงฤดูฝนจะมีอาหารธรรมชาติออกมามาก ส่งผลต่อปริมาณความต้องการการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ทุกภูมิภาคมีการปรับราคาสุกรขุนลดลงตามสภาวะตลาด ยกเว้นภาคใต้ภาคตะวันตก 65  บาท/กก.  ภาคตะวันออก 68 บาท/กก.   ภาคอีสาน 64-65 บาท /กก. ภาคเหนือ 67 บาท/กก.  ภาคใต้ 70 บาท /กก. ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาดและส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เกษตรกรมีความวิตกว่าไทยจะอนุญาตให้นำเข้ามาจากสหรัฐฯจึงเร่งขายสุกรออกไปก่อนหน้านี้จึงมีผลทำให้ราคาสุกรต่ำลงมา