รายย่อยร้องนายกฯ จี้ก.ล.ต.-ตลท.สางปัญหา IFEC

05 มิ.ย. 2560 | 06:44 น.
ผู้ถือหุ้น IFEC ร้องนายกฯ-กรรมาธิการการเงิน-การคลัง ออกคำสั่งให้สำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งสางปัญหาไอเฟคให้เกิดความเป็นธรรมและกระจ่างโดยเร็ว หลังจากทำเมินปล่อยเกียร์ว่างมานานกว่า 6 เดือน ผู้ถือหุ้นเสียหายหุ้นถูกขึ้น SP ห้ามซื้อขาย และจ่อถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างความเสียหายให้บริษัทฯ ผู้ถือหุ้นรายย่อย กระทบตลาดเงิน-ตลาดทุนป่วน จี้หน่วยงานเร่งตรวจสอบ พร้อมลงดาบผู้บริหารที่ทำผิดกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท เพื่อเร่งฟื้นความเชื่อมั่นการลงทุนให้หวนกลับมา

วันที่ 5 มิถุนายน 2560 นายดิศักดิ์ ดีสม ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนและขอความเป็นธรรมกรณีองค์กรของรัฐ 2 หน่วยงานคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อปกป้องผู้ลงทุนเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ในกรณีของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC)

ifec บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งได้เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยกรรมการไอเฟคบางส่วนลาออก และเริ่มมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ผู้ลงทุน ในตั๋วแลกเงิน (B/E) จนเป็นที่มาซึ่งทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นเครื่องหมาย SP มาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2560

ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไอเฟคแจ้งว่าหุ้นกู้ที่เสนอขายผู้ลงทุนรายใหญ่มูลค่า 3 พันล้านบาท อายุ 2 ปี ครบกำหนดการไถ่ถอนในวันที่ 5 พ.ย.2560 และครบกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ในวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯสามารถจ่ายดอกเบี้ยให้ได้เพียงบางส่วน หรือประมาณ 10% เท่านั้น ทั้งๆที่บริษัทฯมีเงินจากการแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (IFEC-W1) เข้ามาประมาณ 37 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่าคณะกรรมการบริษัทที่เหลืออยู่ไม่ครบเป็นองค์ประชุม และไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบ ได้ดำเนินการที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 พบว่ามีการนำหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ IFEC ถือหุ้นในโรงแรมดาราเทวี จำนวน 51% ซึ่งมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท ไปจำนำค้ำประกันการชำระเงินตามตั๋วแลกเงินที่มีจำนวนเพียง 100 ล้านบาท เมื่อถึงกำหนดอายุตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวคือเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ผิดนัดไม่ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่เจ้าหนี้

อีกทั้งยังพบว่าในเดือนธันวาคม 2559 คณะกรรมการของบริษัทฯมีการทำสัญญาขายโรงไฟฟ้าชีวมวลให้กับบริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) โดยไอเฟคทำสัญญากู้เงินระยะสั้นจำนวน 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6.25% ทั้งๆที่ผู้ซื้อต้องวางเงินมัดจำ ขัดกับหลักการทำธุรกิจโดยทั่วไปที่ผู้ซื้อต้องเป็นผู้วางเงินมัดจำ

“ที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นไปยังสำนักงานก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาโดยตลอด โดยคาดหวังว่าจะเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการของประธานกรรมการไอเฟค และกรรมการ ดำเนินการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะมีกรรมการไม่ครบองค์ประชุม และไม่มีกรรมการตรวจสอบ และมีความพยายาม หรือจงใจปกปิดข้อมูลไม่ให้ผู้ถือหุ้นตรวจสอบ หากเจ้าหนี้ 2 รายไม่โผล่ออกมา ผู้ถือหุ้นไม่มีทางรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการแอบนำหุ้นไอแคปไปจำนำแลกกับการยืดหนี้ตั๋วบี/อี แต่สุดท้ายก็ปล่อยหลุด และการแอบขายโรงไฟฟ้าชีวมวลให้กับบริษัท ECF ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับบริษัทฯและผู้ถือหุ้น”ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยระบุ

[caption id="attachment_155620" align="aligncenter" width="503"] นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์[/caption]

นอกจากนี้ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการบริษัทไอเฟค ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการโดยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทถึง 2 ครั้ง คือ ในการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 และในการประชุมสามัญประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ซึ่งใช้วิธีการลงคะแนนแบบสะสม หรือ Cumulative voting ที่ให้ผู้ถือหุ้นออกเสียงได้ 1 หุ้นคูณด้วยจำนวนกรรมการที่จะเลือก ก็เพื่อให้ได้กรรมการที่สนับสนุนประธานกรรมการบริษัทเพิ่มขึ้น ทั้งที่ข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการ กำหนดให้ผู้ถือหุ้นออกเสียงได้ 1 หุ้นเท่ากับ 1 เสียง ซึ่งการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัท

“ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ออกมาคัดค้านการใชวิธีการลงคะแนนแบบสะสม Cumulative voting อย่างชัดเจน แต่ประธานกรรมการไอเฟคยังดึงดันที่จะใช้ และที่สำคัญในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ตัวแทนสำนักงาน ก.ล.ต.ก็อยู่ในที่ประชุมด้วย และได้ออกมาเตือนด้วยเช่นกัน แต่ประธานไอเฟคก็เดินหน้าเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธีการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นก็ยกมือไม่รับรองการประชุมในครั้งก่อน และไม่รับรองวิธีการลงคะแนนเสียงด้วยวิธีการแบบ Cumulative voting ซึ่งประธานกรรมการไอเฟค ยังคงยืนยีนใช้วิธีนี้เช่นเดิม จนผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องร้องศาลแพ่ง เพื่อขอให้พิจารณาว่าการเลือกตั้งด้วยวิธีการดังกล่าวขัดหลักกฎหมายหรือไม่ โดยศาลนัดไต่สวนวันที่ 7 กรกฎาคมที่จะถึงนี้”ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยกล่าว

จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ภายในการบริหารงานของประธานกรรมการไอเฟค และกรรมการ ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย ไม่ไว้ใจให้บริหารต่อ และอยากเรียกร้องให้สำนักงานก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯเร่งเข้าดำเนินการตรวจสอบ เพื่อยับยั้งไม่ให้ปัญหาลุกลามมากกว่านี้ เพราะไม่รู้ว่านอกจากเหนือการทำธุรกรรมสองรายการดังกล่าวแล้วได้ทำการจำหน่าย จ่าย โอน สินทรัพย์หรือสิทธิของบริษัทไปอีกหรือไม่ เนื่องจากจนถึงปัจจุบันนี้ไอเฟคยังไม่ส่งงบการเงินประจำปี 2559 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ และไม่นำส่งงบการเงินของไตรมาสแรกในปี 2560 อีกด้วย

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ไอเฟคยังไม่ดำเนินการตั้งกรรมการตรวจสอบ ตามที่กฏหมายกำหนด นับตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งล่วงเลยมากว่า 6 เดือน ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2560 ทั้งนี้ หาก IFEC ยังไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วนตามข้อกำหนดภายใน 3 เดือน นับจากวันขึ้นเครื่องหมาย SP หรือภายใน 31 สิงหาคม 2560 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดฯ

นอกจากนี้ ไอเฟคยังมีกลุ่มคนซึ่งแต่งกายคล้ายทหารและตำรวจเข้ามาควบคุมพื้นที่โดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับบริษัท เข้ามาควบคุมทั้งในส่วนของสำนักงานบริษัท ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2559 และควบคุมในส่วนของโรงแรมดาราเทวีที่เชียงใหม่ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

ถึงวันนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยจึงได้ร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรมต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ได้โปรดช่วยสั่งการ กำชับ เร่งรัด และติดตาม เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีหน้าที่กำกับ ดูแล บริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการไอเฟค เพราะหากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยต่อไป ความเสียหายของบริษัทและผู้ถือหุ้นจะมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น จนยากแก่การเยียวยา ทำให้เงินที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ลงทุนไปถูกแช่แข็งจากการขึ้นเครื่องหมาย SP มาเป็นเวลากว่า 150 วันแล้ว โดยไอเฟคมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(Market Cap.) ประมาณ 6.2 พันล้านบาท (จากราคาปิดครั้งสุดท้ายที่ 3.10 บาท/หุ้น)

ทั้งนี้ หากผลการตรวจสอบพบว่ามีบุคคลใดกระทำความผิด ก็ขอให้สำนักงานก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการดำเนินการคดีอย่างเด็ดขาดและโดยเร็ว เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลที่เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อีกต่อไป และเพื่อเป็นบรรทัดฐาน รักษาภาพลักษณ์ของตลาดทุน สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

สำหรับการรวมตัวของนักลงทุนรายย่อยไอเฟคเพื่อเรียกร้องให้นายกฯ สั่งการให้สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ถือเป็นการรวมตัวครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี ของนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นตลาดทุนและตลาดเงินเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจับตาปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟค ที่ยืดเยื้อมานานกว่าครึ่งปีแล้ว