เอสเอ็มอีแห่พึ่งแฟกตอริง

07 มิ.ย. 2560 | 10:00 น.
แบงก์ประเมินตลาดสินเชื่อแฟกตอริงขยายตัวแรง คาดทั้งระบบโต 15% มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หลังเอสเอ็มอี ที่ติดข้อจำกัดขอสินเชื่อปกติแห่ใช้ “กรุงไทย” ลั่นภายใน 2 ปี ดันมาร์เก็ตแชร์ที่ 25%หรือ 2.5 หมื่นล้านบาท “กสิกรไทย”มั่นใจทั้งปีโต 7%

นายกฤษณ์ เนื่องสิกขาเพียร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มบริหารเงินสด ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อแฟกตอริงในระบบปีนี้คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่อัตราการเติบโตชะลอตัวลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อทยอยมีเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่มีสภาพคล่องหรือวงเงินไม่เพียงพอจะเข้ามาใช้บริการสินเชื่อแฟกตอริงมากขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปีที่ผ่านมาระบบชะลอตัว แต่ธนาคารยังคงสามารถเติบโตกว่าระบบที่อัตรา 18%โดยในปีนี้คาดว่าทั้งระบบจะขยายตัวอยู่ที่ 15% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารกรุงไทยน่าจะมีอัตราการเติบโตได้มากกว่า 50%

ตัวเลข 5 เดือนแรก ธนาคารกรุงไทยสามารถสนับสนุนวงเงินไปแล้วกว่า 5.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 65% จากเป้าหมายทั้งปีตั้งไว้อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

ปัจจุบันมีลูกค้าอนุมัติใหม่จำนวนทั้งสิ้น 50 ราย แบ่งเป็นลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มียอดขาย 50 ล้านบาทขึ้นไปจำนวน 45 ราย และที่เหลืออีก 5ราย จะเป็นลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือคิดเป็นสัดส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีประมาณ 90% และรายใหญ่ 10%

3947186_ml อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มการเติบโตดังกล่าวธนาคารตั้งเป้าภายใน 2 ปีหรือภายในปี 2562 จะมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ขึ้นเป็นอันดับที่ 2 อยู่ที่ 25% จากปีก่อนมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 8% และปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 10% อยู่ในอันดับที่ 4

การจะเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ธนาคารจะต้องขยายวงเงินเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท คาดว่าภายใน ปี 2562 ยอดวงเงินปล่อยใหม่จะอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาทและมียอดสินเชื่อคงค้าง 2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท

ล่าสุด ธนาคารกรุงไทยออกสินเชื่อกรุงไทยช่วย SME 4.0 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอี โดยสนับสนุนวงเงินแฟกตอริงแก่ลูกค้าที่ต้องการสภาพคล่องระหว่างรอเรียกเก็บหนี้การค้า ซึ่งเสนออัตราดอกเบี้ยปีแรก 4% ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR-0.25% ต่อปี โดยลูกค้าสามารถยื่นขอวงเงินได้ภายใน 30 กันยายนนี้

นายสุรัตน์ ลลีาทวีวัฒน์รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ทิศทางการแข่งขันสินเชื่อแฟกตอริงในตลาดอาจจะไม่ได้แข่งขันกันรุนแรงมากเพราะถือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อปกติเช่น วงเงินเต็ม หรือไม่มีหลักประกัน เป็นต้น ลูกค้าก็จะหันมาใช้สินเชื่อแฟกตอริงแทนโดยการนำลูกหนี้การค้ามาวางไว้กับธนาคาร ซึ่งปีนี้คาดว่าทั้งระบบจะมีปริมาณสินเชื่อแฟกตอริงเติบโตสุทธิประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_156748" align="aligncenter" width="503"] สุรัตน์ ลลีาทวีวัฒน์รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย สุรัตน์ ลลีาทวีวัฒน์รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย[/caption]

ทั้งนี้วงเงินการปล่อยกู้ธนาคารจะพิจารณาตามลูกหนี้การค้า และเครดิตของผู้กู้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่คิดจะเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) เพราะอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน มีทั้งในส่วนของ MRR, MLR หรือMOR ขึ้นอยู่กับขนาดของลูกค้ากลยุทธ์ในปีนี้ธนาคารจะเน้นเพิ่มฐานคู่ค้าให้มากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่แต่ธนาคารจะเจาะลงในรายระดับกลางลงมาด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ในช่วง4 เดือนแรก ที่ผ่านมาอัตราการเติบโตจะไม่สูงมาก โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 2,400 ล้านบาท แต่เชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีสินเชื่อจะขยายตัวได้ดีขึ้น โดยธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตทั้งปีอยู่ที่ 7% โดยปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ 15% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) อยู่ในอัตราที่น้อยมาก

“สินเชื่อแฟกตอริงเป็นเหมือนทางเลือกให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี ที่ติดข้อจำกัดจากการขอกู้ปกติ ทำให้สินเชื่อไม่ได้เติบโตมากนักในไทย แต่ก็เป็นโปรดักต์ที่ดีกับเอสเอ็มอี ซึ่งการจะขยาย สินเชื่อประเภทนี้ ธนาคารจะต้องพยายามเพิ่มลูกหนี้การค้าให้มากที่สุด เพราะสินเชื่อกลุ่มนี้จะหมุนเร็วคาดว่าทั้งระบบปีนี้จะมีสินเชื่อสุทธิประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราตั้งเป้าทั้งปี 7% จากยอดสินเชื่อคงค้าง 2,400 ล้านบาท”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,267 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560