บิ๊กแบรนด์โหมชิงตลาดกะทิ อัดงบเพิ่มกำลังการผลิตรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

05 มิ.ย. 2560 | 11:00 น.
กะทิสำเร็จรูปเดินหน้าลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตรับตลาด 6,000 ล้าน เติบโตตามไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่เอเซียติค เตรียมเงิน 2,000 ล้าน ขึ้นโรงงานแห่งใหม่เพิ่มกำลังการผลิตอีก 3 เท่าตัว รับตลาดโตปีละ 10% ด้านแบรนด์ชาวเกาะ ควักเงินซื้อที่ดินกว่า 200 ไร่ปลูกมะพร้าว พร้อมเทงบปีละ 100 ล้านพัฒนาไลน์การผลิตรับยอดขายโต 10%

ตลาดกะทิสำเร็จรูปที่จำหน่ายในช่องทางค้าปลีก ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดกว่า 6,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตกว่า 10% ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่นิยมประกอบอาหาร และต้องการความสะดวกในการซื้อสินค้าในช่องทางค้าปลีก จากเดิมที่ซื้อสินค้าในตลาดสด โดยตลาดกะทิสำเร็จรูปมีผู้เล่นหลัก 3 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์ชาวเกาะ ที่มีส่วนแบ่งประมาณ 40% แบรนด์อร่อยดี มีส่วนแบ่งประมาณ 40% และแบรนด์อัมพวา มีส่วนแบ่ง 10% ส่วนที่เหลือเป็นแบรนด์อื่นๆ ซึ่งการเติบโตของตลาดในอัตราดังกล่าว ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ได้วางแผนลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตและรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายณัฐพล วิสุทธิไกรสีห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเซียติค อุตสาหกรรมเกษตร จำกัด ผู้ผลิต แปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ภายใต้แบรนด์ โคโค่แม็ก (Cocomax) “อัมพวา” (Ampawa) และ “มิลค์กี้ โคโค่” (Milky Coco) เปิดเผยว่า ได้วางแผนลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัวจากปัจจุบัน โดยเตรียมก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ บนพื้นที่โรงงานเดิมที่มีขนาด 60 ไร่ ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งคาดว่าโรงงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563 โดยโรงงานดังกล่าวจะรองรับการผลิตสินค้าที่ทำจากมะพร้าว ไม่ว่าจะเป็นกะทิ น้ำมะพร้าว และสินค้าอื่น โดยมุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของมะพร้าว เพื่อไม่ให้เหลือเป็นขยะ ซึ่งมีแผนพัฒนาสินค้าใหม่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวในอนาคตด้วย

Cocomax ภายหลังจากที่บริษัทก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่แล้วเสร็จและผลิตสินค้าออกมาทำตลาด คาดว่าจะส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของบริษ้ทเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน เนื่องจากแนวโน้มตลาดสินค้าจากมะพร้าว โดยเฉพาะกะทิและน้ำมะพร้าว ยังคงเติบโตได้ดีจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่สนใจเรื่องสุขภาพ ซึ่งแนวทางการทำตลาดจะมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์จากกะทิ เนื่องจากได้มีรายงานด้านโภชนาการที่ระบุว่า กะทิเป็นไขมันประเภทดี ที่ช่วยในเรื่องของกระบวนการเมตาบอลิซึม โจทย์ทางการตลาดบริษัทจึงต้องสร้างการรับรู้ในเรื่องดังกล่าว ผ่านกิจกรรมการตลาดต่างๆ

สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คาดว่าจะมียอดขาย 4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากปีที่ผ่านมาทำยอดขายได้ 2,500 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการส่งออก 70% ใน 74 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทยมีสัดส่วนยอดขาย 30% ซึ่งผ่านช่องค้าปลีก 90% และโฮเรก้าอีก 10% และใช้งบการตลาดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทด้วย

ด้านนายอภิศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขายต่างประเทศ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด กล่าวว่า ในแต่ละปีบริษัทจะลงทุนด้านไลน์การผลิต ไม่ว่าจะเพิ่มเครื่องจักรใหม่ หรือการปรับปรุงเครื่องจักรเดิมไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รองรับกับปริมาณยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ยังได้ลงทุนจัดสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในย่านปิ่นเกล้าอีก 300 ล้านบาทด้วย รวมถึงการซื้อที่ดินกว่า 200 ไร่ สำหรับการปลูกมะพร้าวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าด้วย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

201604-08-103933_Y7-0 นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนอีกปีละกว่า 100 ล้านบาท สำหรับใช้ทำการตลาดเพื่อสร้างการเติบโต ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายการเติบโต 10% จากปีที่ผ่านมามียอดขาย 6,300 ล้านบาท ซึ่งช่วงไตรมาสแรกเติบโต 3% แต่ช่วง 5 เดือนแรกไม่เติบโต เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนมะพร้าว ทำให้ยอดขายส่งออกลดลง 10-15% หากสามารถแก้ไขปัญหาวัตถุดิบได้ บริษัทอาจจะกลับมาเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหา ได้นำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในสัดส่วน 20% หรือประมาณ 2 หมื่นตันต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,267 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560