ปลุกเศรษฐกิจฐานราก โจทย์ยาก ‘ประยุทธ์’

07 มิ.ย. 2560 | 04:00 น.
รัฐบาลบอกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง นักเศรษฐศาสตร์ใช้คำว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ คนจากพรรคเพื่อไทยบอกว่ารัฐบาลหลงทาง ส่วนพ่อค้าแม่ ค้าแผงลอยบอกว่า “เงียบพี่” ขณะที่ผลสำรวจความเห็นของสำนักต่างๆได้คำตอบตรงกันว่าการบริหารเศรษฐกิจต้องปรับปรุง

สภาวะเศรษฐกิจที่ซึมๆเซาๆต่อเนื่องมาหลายเดือน นอกจากเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลแล้ว และเป็นปริศนาให้หาคำตอบว่าทำไม ? จึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่รัฐบาลมั่นใจว่ามีผลงานด้านเศรษฐกิจไม่น้อย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 พ.ค.60) ว่า”รัฐบาลสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจาก จีดีพี 0.1% ในครึ่งแรกของปี 2557 มาอยู่ที่ 2.8 % ในปี 2558 เราเข้ามาในเดือน พฤษภาคม ปี 2557 เศรษฐกิจมีการขยายตัวต่อเนื่องภายใต้ข้อจำกัด ทั้งภายในและนอก เป็น 3.2 % ในปี 2559 และ 3.3 % ในไตรมาสแรกของปีนี้”

[caption id="attachment_157678" align="aligncenter" width="373"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา[/caption]

++มาถูกทางแต่ยังไม่ดีพอ
ดูเหมือนว่าการเพิ่มขึ้นของ จีดีพีต่อเนื่องในรอบ 3 ปีที่ผ่านมายังไม่ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจไทย ดร.สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ รองนายกฯและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เคยกล่าวถึงสภาวะดังกล่าว (จีดีพีโตแต่ประชาชนทั่วไปยังรู้สึกว่าหากินยาก) ในงานสัมมนาแห่งหนึ่งว่าโดยสรุปว่าเขายืนยันเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว (ตั้งแต่ปลายปี 2559) การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลมาถูกทางหากผิดไปจากนี้ตัวเลขจีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ)ที่โตมา 3.5 % จะไม่ยั่งยืน

“ แต่ตัวเลขที่ดีขึ้นตามลำดับ มานั้น กลับมีความรู้สึกว่า เศรษฐกิจตอนนี้ยังไม่ดีพอ มันคงเป็นเพราะว่า การเติบโต มาตามลำดับนั้นยังไม่สามารถแผ่อานิสงค์ ไปถึงประชาชน ระดับรากหญ้าโดยเฉพาะเกษตรกร เนื่องจากที่ผ่านมา เกษตรกร โชคร้ายกับราคาสินค้าเกษตร ตกต่ำ เจอน้ำท่วม แล้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้มีความลำบาก เงินทองหมุนเวียนในระบบไม่เพียงพอ เพราะเงินหมุนเพียงระดับกลางขึ้นมา ทำให้เงินหมุนไม่ได้รอบ “ ดร.สมคิด ระบุ

เช่น เดียว กับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่ปาฐกถาในงานสัมมนาแห่งหนึ่งว่า เศรษฐกิจขยายตัวน่าพอใจในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่ดูจากจีดีพีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะ ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น เรากำลังเติมข้างล่าง เพราะประชาชนที่มีรายได้น้อยยังไม่ได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของจีดีพี

[caption id="attachment_156332" align="aligncenter" width="503"] ปลุกเศรษฐกิจฐานราก โจทย์ยาก ‘ประยุทธ์’ ปลุกเศรษฐกิจฐานราก โจทย์ยาก ‘ประยุทธ์’[/caption]

++ประชารัฐ ประชารัฐ
ความจริงแล้วรัฐบาลประยุทธ์ขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านหลายช่องทาง โดยในปี 2558 ดร.สมคิด รองนายกฯได้ผลักดันนโยบาย ประชารัฐ(ประชาชน-รัฐบาล-เอกชนร่วมมือกัน ) เป็นหัวหอกในการใช้หมู่บ้านเป็นหนึ่งในกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการการออกมาตรการ ออกมาตรการส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยออกมา 3 ชุด ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน ให้ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปล่อยสินเชื่อ 6 หมื่นล้านบาท ให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกู้ไปปล่อยให้สมาชิกแบบปลอดดอกเบี้ย 2 ปี 2 . ส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ให้กระทรวงมหาดไทย จัดสรรลงหมู่บ้าน 7,255 แห่งทั่วประเทศ รวม 3.62 หมื่นล้านบาท 3. กระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดเล็กทั่วประเทศ 4 หมื่นล้านบาท แน่นอนชุดมาตรการดังกล่าวมีส่วนในการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2558-2559 แต่ยังไม่แรงพอให้คนในเศรษฐกิจฐานรากมั่นใจว่า ปากทองของพวกเขามีความมั่นคง และเป็นที่มาของคำพูดว่า “ เรากำลังเติมข้างล่าง”ของนายกรัฐมนตรี

++กางแผนสู่ฐานราก
ช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากออกมาประกาศโครงการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากออกมา อย่างต่อเนื่อง โดยรวมแล้วชุดมาตรการคงอิงกับโครงการที่ ประกาศในปี 2558 มี คนจน หมู่บ้าน ธุรกิจขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี&ไมโครเอสเอ็มอี) เป็นเป้าหมาย มีมาตรการที่เติมเข้ามา ตั้ง กองทุนประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ด้วยทุนตั้งต้น 5 หมื่นล้านบาท ช่วยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี เป็นต้น (ดูกราฟฟิกประกอบ)

หากพิจารณา ชุดมาตรการ ที่รัฐบาลทยอยเติมลง ไปในเศรษฐกิจฐานราก ตั้งแต่เดือน มิถุนายนนี้เป็นต้นไป ด้านของทุน มูลค่ามากกว่ารอบก่อน มีกลไกใหม่เติมเข้ามา และ การจ่ายสวัสดิการให้คนชราและผู้มีรายได้น้อยเป็นระบบมากขึ้น แม้นักเศรษฐศาสตร์บางรายมองว่า “เป็นการเดินตามไทม์ไลน์การเลือกตั้งมากกว่า หวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจ”เขาวิจารณ์ต่อว่า การเลือกโจทย์ที่จำกัด (ช่วยเหลือคนจนที่ขึ้นทะเบียน ) ใช้คำว่ากระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้

ส่วนอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี มองว่าชุดมาตรการที่ออกมายังไม่สามารถใช้คำว่ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ทีเดียวเพราะภาคเกษตรปีนี้ดีกว่าปีก่อนหน้า มีเพียงธุรกิจเล็กๆ(ไมโครเอสเอ็มอี)ที่จะได้อานิสงค์จากมาตรการชุดนี้

กระนั้นก็ตาม แม้นักเศรษฐศาสตร์บางคนวิจารณ์ว่า ชุดมาตรการที่ออกมายังไม่เข้าข่ายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แต่เม็ดเงินก้อนโตที่กำลังสะพัดออกมา คงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานรากแน่นอน แต่จะดีขนาดดูดซับเสียงบ่นเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี ให้จางหายไปได้หรือไม่นั้น ยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดขนาดนั้น

[caption id="attachment_156331" align="aligncenter" width="503"] ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล[/caption]

**ส่วนเกินที่หายไป
มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจฐานรากยังไม่กระเตื้องอย่างที่ รัฐบาลหวังไว้หลายประการหนึ่งในนั้นคือ เงินจากธุรกิจสีเทาหายไป ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดเรื่องนี้โดยระบุว่าการปราบปรามยาเสพติด ของรัฐบาล (ประยุทธ์)ส่งผลให้การใช้จ่ายในส่วนนี้ หรือ ส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่หายไป

พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ยกประเด็นนี้มาอ้าง(สาเหตุที่เศรษฐกิจฐานรากไม่คึกตัก)เช่นกันในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อคืนวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า เงินในระบบเศรษฐกิจฐานราก อาจจะต้องน้อยลง เพราะเงินจากธุรกิจสีเทา หรือ สีดำที่ออกมาหมุนเวียนในพื้นที่น้อยลงจากการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น จับกุมดำเนินคดีในการหลอกลวงมากขึ้น คดีทุจริตต่างๆถูกนำเข้ามาพิจารณามากขึ้น “เงินจำนวนนี้ก็หายไป”

นอกจากสาเหตุที่เฉพาะเจาะจงข้างต้นแล้วพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคธปท. ฉายภาพว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่องโดยปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนโดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดีขึ้นและกระกระจายตัวหลายสินค้ามากขึ้น แต่รายได้นอกภาคเกษตรยังทรงตัวประชาชนยังใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การทำงานล่วงเวลา (โอที)ยังต่ำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,267 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560