สสส.จับมือคณะพยาบาล 5 สถาบันเปิดนวัตกรรมพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ

02 มิ.ย. 2560 | 07:47 น.
สสส.จับมือสภาการพยาบาล-คณะพยาบาลศาสตร์ 5 สถาบันอุดมศึกษา  เปิดนวัตกรรมพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ “คลอดท่าแมว ลดความเจ็บปวด - อังกะลุงป้องกันสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า –ศูนย์พึ่งได้ เครือข่ายดูแลผู้ถูกกระทำความรุนแรง- โปรแกรมการฝึกอบรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยฟอกไตทางหน้าท้อง การสร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วยที่มีออสโตมี่และแผล” พัฒนาหลักสูตรและแนวปฏิบัติทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในระบบบริการสุขภาพชุดแรกของไทย พร้อมตามรอยพ่อหลวง พัฒนาศูนย์เรียนรู้ 5 ภูมิภาค

[caption id="attachment_156313" align="aligncenter" width="503"] เกศริน มณีสงห์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.สงขลานครินทร์ ผู้ออกแบบกล่อมเก็บนมแม่ เกศริน มณีสงห์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.สงขลานครินทร์ ผู้ออกแบบกล่อมเก็บนมแม่[/caption]

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสภาการพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์ 5 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชียงใหม่ บูรพา มหิดล สงขลานครินทร์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศูนย์เรียนรู้และนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์  กทม. มีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยมีพยาบาลและนักศึกษาพยาบาล เข้าร่วมกว่า 400 คน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อยากเห็นพยาบาลเป็นพยาบาล 4.0 ซึ่งรูปแบบคนในยุค 4.0 คือ ต้องเป็นคนเก่ง ทำงานได้หลายด้าน และใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน ในการปฏิรูปประเทศ 5 ปีแรก งบประมาณทุกอย่างจะบูรณาการลงที่ระดับตำบล จึงเป็นการทำงานที่หลอมรวมกันทุกด้านทั้งการรักษาโรค และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ศ.เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ ประธานคณะกรรมการโครงการขับเคลื่อนวิชาชีพการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า พยาบาลมีมากที่สุดในระบบสุขภาพ มีจำนวนถึง 200,000 คน จากการสำรวจการทำงานพบว่าส่วนใหญ่ทำงานเฉพาะหน้าด้านการรักษา การทำงานสร้างเสริมสุขภาพจึงน้อย หากปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างมหาศาล สสส.จึงทำงานร่วมกับสภาการพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์ จาก 5 มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรพยาบาลนักสร้างเสริมสุขภาพ ทดลองใช้กับนักศึกษาพยาบาล พยาบาลวิชาชีพ และพยาบาลเฉพาะทาง ในพื้นที่ของเครือข่ายองค์กรวิชาชีพทั้ง 5 ภาคของประเทศ โดยมีการประเมินผลและปรับปรุงก่อนนำหลักสูตรไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ และมีการพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับพยาบาลในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสร้างเสริมสุขภาพในระบบบริการสุขภาพซึ่งถือเป็นชุดแรกของไทย พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ โดยจะมีการพิจารณาตัดสินและประกาศผลนวัตกรรมการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพดีเด่นในวันที่ 3 มิถุนายนนี้

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากการทำงานของโครงการขับเคลื่อนวิชาชีพการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ปัจจุบันนี้มีศูนย์เรียนรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ 30 แห่ง กระจายใน 5 ภูมิภาค ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกของหน่วยบริการสุขภาพตั้งแต่รพ.สต. โรงพยาบาลอำเภอ จนกระทั่งถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ ที่มุ่งเน้นการทำงานสร้างเสริมสุขภาพโดยมีนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่โดดเด่นตั้งแต่ยังไม่เจ็บป่วยจนกระทั่งการเสียชีวิตอย่างสงบ ซึ่งได้ศึกษาแนวคิดการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพัฒนาศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนา พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้แก่คนทำงานและดูแลสุขภาพเชิงรุกเพื่อสร้างความสุขของประชาชน

นอกจากนี้ภายในงานได้มีการนำเสนอตัวอย่างนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ PSU Cat คลอดธรรมชาติแบบท่าแมว ลดความเจ็บปวด และผ่อนคลายด้วยบทเพลง จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , ดนตรีสร้างสุขด้วยอังกะลุง ป้องกันโรคสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่ากว้าง จ.เชียงใหม่ , ศูนย์พึ่งได้ เครือข่ายดูแลผู้ถูกกระทำความรุนแรง โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น  ,โปรแกรมการฝึกอบรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยฟอกไตทางหน้าท้อง โรงพยาบาลชลบุรี  , การสร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วยที่มีออสโตมี่และแผล โรงพยาบาลศิริราช ,การป้องกันแผลกดทับบริเวณหูในผู้ป่วยที่ใส่ท่อหายใจที่ต้องผูกยึดท่อช่วยหายใจในหอผู้ป่วย ICU โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติแปะหู การใช้กล่องเก็บนมแม่แช่แข็งช่วยรักษาอุณหภูมิของนมแม่ขณะเปิดตู้เย็น ป้องกันการปนเปื้อน สามารถนำนมแม่เก่ามาใช้ก่อนนมใหม่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และยังมีนวัตกรรมจากทุกภูมิภาคของประเทศอีกกว่า 20 นวัตกรรม