เผยปี 49 ภาคอุตสาหกรรม-บริการ รายได้สูงสุด 4.5 หมื่นบาท/เดือน

02 มิ.ย. 2560 | 07:30 น.
กระทรวงแรงงานเผย ปี 2559 คนไทยมีค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 45,000 บาท พบส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ แนะเรียนสายอาชีพ หางานง่าย รายได้ดี

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยค่าจ้างรายอาชีพปี 2559 พบค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 45,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 9,801 บาท ซึ่งมากกว่าปี 2558 ที่ได้รับค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 38,000 บาท ค่าจ้างเฉลี่ย 9,730 บาท โดยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการสูงสุด อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑลและภาคกลางมากสุด ขณะที่อาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดคือวิศวกรเหมืองแร่ทั่วไป และผู้ติดตั้งเครื่องเจาะ (การเจาะบ่อน้ำมัน) 40,000 บาท

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน โดยกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงานได้รวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานว่างจากการให้บริการจัดหางานในประเทศมาทำการวิเคราะห์และจัดทำค่าจ้างรายอาชีพปี 2559 ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าคนไทยได้รับค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 45,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ย 9,801 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 พบว่าค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 18.42 ที่ได้รับค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 38,000 บาท ขณะเดียวกันค่าจ้างเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 0.73 ซึ่งมีค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 9,730 บาท โดยค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ 45,000 บาท

รองลงมาภาคเกษตรกรรม 40,000 บาท อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑลและภาคกลางมากสุด ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในหมวดอาชีพผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการอาวุโส ผู้จัดการ 14,841 บาท รองลงมาผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ 12,758 บาท ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 10,749 บาท เสมียน เจ้าหน้าที่ 10,072 บาท ตามลำดับ

สำหรับอาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดคือวิศวกรเหมืองแร่ทั่วไปและผู้ติดตั้งเครื่องเจาะ (การเจาะบ่อน้ำมัน) 40,000 บาท ช่างทอพรมด้วยเครื่องจักร 26,000 บาท นักอินทรีย์เคมีและผู้ประมาณการ (งานวิศวกรรม) 25,000 บาท ต้นเรือ 22,000 บาท และนักเภสัชวิทยา 21,900 บาท ตามลำดับ

จากการวิเคราะห์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแรงงานมีความต้องการแ   รงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทั้งยังมีรายได้สูงอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักเรียน นักศึกษาในการตัดสินใจเลือกเรียนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และได้รับอัตราค่าจ้างที่สูง โดยเฉพาะสายอาชีพจะมีโอกาสที่หลากหลายในการทำงาน โดยผู้เรียนสามารถเลือกออกไปทำงานหรือเรียนไปทำงานไปด้วยก็ได้ กล่าวคือเป็นการเรียนที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้เลย เพราะจะได้ทั้งความชำนาญในงานและประสบการณ์จากการทำงานควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม นอกจากเลือกเรียนตรงกับตลาดต้องการแล้วยังต้องพัฒนาทักษะของตนเองด้วย เช่น ภาษาต่างประเทศ การใช้เทคโนโลยี เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำให้กับตนเองต่อไป