ไทย-ญี่ปุ่นเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้โครงการคลองผันน้ำอยุธยา-อ่าวไทย

02 มิ.ย. 2560 | 03:48 น.
ไทย-ญี่ปุ่น เร่งเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้โครงการคลองผันน้ำอยุธยา-อ่าวไทย และถนนวงแหวนรอบที่ 3 หวังสร้างโมเดลเแผนรับมืออุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน พร้อมเยี่ยมชมระบบถนนเชื่อมคลองผันน้ำลดผลกระทบน้ำท่วมของญี่ปุ่น

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายเคอิฉิ อิชิอิ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (H.E. Mr. Keiichi ISHII, Minister of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT) ณ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น ว่า  ทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องร่วมกันในการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำที่มีกันอยู่แล้วให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ที่ได้ให้การสนับสนุนทางวิชาการกับประเทศไทยในการดำเนินโครงการทบทวนแผนแม่บทการป้องกันบรรเทาอุทุกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน เมื่อปี 2555 - 2556 โดยมีการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการบรรเทาและป้องกันอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จนเสนอให้มีการพัฒนาคลองผันน้ำควบคู่กับถนนวงแหวน รอบที่ 3 เพื่อช่วยในการระบายน้ำหลากบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงสู่อ่าวไทย คาดว่าจะมีระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำ 2 แห่ง คือ ลำน้ำเจ้าพระยา จากอยุธยาถึงกรุงเทพฯ และแม่น้ำป่าสักในช่วงปลายน้ำ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพังทลายของคันกั้นน้ำตลอดแนวของพื้นที่คุ้มกัน  โดยมี 2 ทางเลือกในการก่อสร้าง คือ (1) คลองผันน้ำ ขนาด 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หรือ (2) คลองผันน้ำขนาด 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

สำหรับประโยชน์ของโครงการพัฒนาคลองผันน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ทำให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างงานโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม กับการบริหารจัดการน้ำของไทยได้อย่างเป็นระบบ เนื่องจากระบบการระบายน้ำบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำหลากปริมาณมากได้ การก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมที่ผ่านมาก็ไม่มีความแข็งแรงเพียงพอเห็นได้นำชัดเจนจากอุทกภัยเมื่อปี 2554 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีโครงการที่เน้นการบริหารจัดการน้ำที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างบูรณาการ โดยใช้คลองผันน้ำเพื่อนำน้ำออกทะเลโดยตรง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีการศึกษาจำเป็นต้องพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย ข้อจำกัด และผลกระทบต่างๆ อย่างรอบด้าน รวมถึงเสนอแนะรูปแบบการพัฒนาที่มีความเหมาะสมที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในทุกๆ ด้านอย่างแท้จริง

“ความร่วมมือการพัฒนาระบบชลประทานผ่านมาทั้งสองกระทรวงมีความร่วมมือระหว่างกันในหลายๆ โครงการ อาทิ การศึกษาทบทวนแผนแม่บทการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา การให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างประตูระบายน้ำกระมังและหันตรา จ.พระนครศรีอยุธยา และล่าสุดในปี 2560 – 2561  ได้เข้ามาช่วยในการศึกษาโครงการพัฒนาคลองผันน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งการเดินทางเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ได้ถือโอกาสขอบคุณทางกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น และไจก้า อย่างเป็นทางการทั้งความร่วมมือทางวิชาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจัดให้ศึกษาดูงานระบบชลประทานที่จังหวัดไซตามะ ถือเป็นรูปแบบโมเดลการสร้างถนนควบคู่กับทางระบายน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศญี่ปุ่นที่จะช่วยพัฒนาระบบระบบชลประทานของไทยต่อไปในอนาคตด้วย ” พลอกฉัตรชัย กล่าว

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้ กรมชลประทานได้ร่วมกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม  ดำเนินการศึกษาโครงการคลองผันน้ำร่วมกับถนนวงแวนรอบที่ 3 เพิ่มเติมจากผลการศึกษาเดิมของไจก้า พร้อมทั้งได้ประชุมหารือกับกรมทางหลวง พิจารณากรอบความช่วยเหลือและขอบเขตการศึกษา เพื่อจัดทำข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือจากไจก้า โดยไจก้าได้เสนอที่จะช่วยเหลือในด้านข้อมูลการสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมด้านวิชาการโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยหน่วยงานจากกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทางหลวง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเป็นคณะทำงานฯ เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับทีมสำรวจของไจก้า โดยจะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึง กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มร่างแผนความเป็นไปได้ของโครงการในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้