บอร์ดบีโอไอขยายเวลาส่งเสริมลงทุนใน SEZ ถึงสิ้นปี 61

01 มิ.ย. 2560 | 08:04 น.
บอร์ดบีโอไอขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไปจนถึงสิ้นปี 2561 และเปิดทาง 6 กิจการที่เลิกให้ส่งเสริมกลับมาใหม่ พร้อมส่งเสริมกิจการใหม่ “โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล” เพิ่มศักยภาพการให้บริการอินเตอร์เน็ตให้คนไทย

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บีโอไอขยายเวลานโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน(SEZ) ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ ให้มีผลถึงสิ้นปี 2561 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ชายแดนมากขึ้น และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดน

ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัด (ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 จนถึงเดือนเมษายน 2560 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมแล้วจำนวน 41 โครงการ เงินลงทุนรวม 8,578.7 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้เปิด 6 ประเภทกิจการ ที่สิ้นสุดการให้ส่งเสริมไปแล้ว ให้สามารถขอรับส่งเสริมได้จนถึงสิ้นปี 2561 เนื่องจากเป็นกิจการที่นักลงทุนในพื้นที่ให้ความสนใจ และกิจการ 2 ประเภทในกลุ่มนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายขอบข่ายธุรกิจให้กว้างขึ้นด้วย ได้แก่ กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง ให้ครอบคลุมวัสดุก่อสร้างทุกประเภท และกิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย ให้รวมถึงการผลิตเครื่องสำอางด้วย

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องการปรับประเภทกิจการและปรับสิทธิประโยชน์เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการเปิดประเภทกิจการใหม่ คือ กิจการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนโครงข่ายการสื่อสารผ่านเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเส้นทางน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และหากมีการลงทุนเพิ่มโครงข่ายมากขึ้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการระบบอินเตอร์เน็ต และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกลุ่มกิจการต่างๆ ที่มีระดับเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงหรือมีขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบเช่น กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระดับเทคโนโลยีขั้นสูง หรือมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กิจการนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นกิจการที่ช่วยจัดระเบียบพื้นที่อุตสาหกรรม ช่วยดูแลด้านสิ่งแวดล้อม

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนรวม 2โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 11,983.5 ล้านบาท ประกอบไปด้วย บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,214.6 ล้านบาท โครงการนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการค้าและการขนส่งทางน้ำในภูมิภาคเอเชีย

บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ ครอบคลุมถึงการขนส่งผู้โดยสาร ขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์และไปรษณียภัณฑ์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,768.9 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการให้บริการสายการบินราคาประหยัด เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้โดยสานและนักท่องเที่ยว สนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและเพิ่มศักยภาพให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน