ล้างบางรูดปรื้ด‘แลกซื้อ’

01 มิ.ย. 2560 | 12:00 น.
แบงก์ลุยล้างพอร์ตบัตรเครดิตที่ไม่มียอดใช้จ่าย ลดต้นทุนการจัดการ-แบกความเสี่ยงตั้งสำรองเงิน “กรุงศรีฯ”ชี้ส่งโปรแกรมกระตุ้นทุก 3 เดือนหากไม่กระเตื้อง 24-36 เดือนปิดทันที ส่วน “เคทีซี” เผยหลังทำมา 2 ปี ยกเลิกบัตรไปแล้ว2.1 แสนใบ

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวทางการบริหารบัตรเครดิตที่ไม่มียอดใช้จ่าย (InActive) ธนาคารจะเริ่มดูบัตรที่นิ่งเป็นเวลา 24-36เดือน และทยอยปิดบัตรดังกล่าวเพื่อลดต้นทุนการกันสำรอง และ

ความเสี่ยงจากการทุจริตอย่างไรก็ตามก่อนจะปิดบัตรเครดิต ธนาคารจะแจ้งลูกค้ารวมถึงมีโปรโมชันกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาใช้จ่ายในช่วงทุกๆ 3 เดือนแต่หากเกิน 24-36 เดือนแล้วยังไม่มีการใช้จ่ายหรือใช้บริการธนาคารจะปิดบัตรทันที ซึ่งที่ผ่านมาปิดบัตรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 แสนใบต่อปี

“การล้างพอร์ตบัตรเครดิตที่ไม่มียอดแอกทีฟ เราจะดูบัตรในกลุ่มที่ไม่ได้ใช้เลย 24-36 เดือนและหลังจากเราส่งแคมเปญกระตุ้นไปสัก 4-5 ครั้ง หากยังไม่มาใช้อีกเราจะปิดบัตรทันทีเพราะถ้าทิ้งไว้ไม่ใช้ระบบก็ยังทำงานอยู่ วงเงินที่ค้างอยู่ในบัตรก็ยังต้องตั้งสำรอง เรื่องเหล่านี้เป็นต้นทุน หากปิดบัตรจะช่วยลดต้นทุนได้”

นายฐากร กล่าวว่า ภายหลังการกระตุ้นด้วยโปรโมชันให้กับลูกค้าในทุกๆ 3 เดือน จะพบว่าอัตราการกลับมาใช้จ่ายผ่านบัตรจะมากขึ้น แต่กรณีลูกค้าที่ไม่สนใจใช้บัตรหลุดจาก 6-12 เดือนแล้ว จะเห็นอัตราการกลับมาใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่ายประมาณ 15%

MP28-3266-B-503x381
ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า บัตรเครดิตที่ไม่มีการใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิตที่ผู้ถือบัตรทำเพราะได้รับแรงจูงใจเช่นรับของชำร่วยการให้โปรโมชันในช่วงแรกๆ เป็นต้น

นางพิทยา วรปัญญาสกุลรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(KTC)เปิดเผยว่า บริษัทจะมีการปรับพอร์ตหรือล้างพอร์ตบัตรเครดิตที่ไม่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรอย่างสมํ่าเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้งโดยบริษัทเริ่มทดลองการสำรวจพอร์ตตั้งแต่ในปี 2558 และพบว่ามีบัตรที่ไม่มียอดใช้จ่าย ประมาณ 1.2 แสนใบ และในปี 2559 พบว่าอีกจำนวน 2-3 หมื่นใบรวมบัตรที่มีการปิดแล้วทั้งสิ้นประมาณ 2.1 แสนใบ

ทั้งนี้ฐานบัตรเครดิตเคทีซีปัจจุบัน จำนวน 2 ล้านใบ มียอดใช้จ่ายสมํ่าเสมอประมาณ 70% ต่อเดือน และที่เหลืออีก 30% จะไม่แอกทีฟดังนั้น หากพบว่าบัตรที่ไม่แอกทีฟโดยย้อนหลัง 12 เดือนไม่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเกิดขึ้น บริษัทจะส่งหนังสือแจ้งลูกค้าในการยกเลิกบัตร แต่หากลูกค้าต้องการถือต่อจะต้องมีการใช้จ่ายผ่านบัตรอย่างน้อย 1 รายการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมียอดใช้จ่ายขั้นตํ่า ลูกค้าจึงจะสามารถถือบัตรต่อได้ ซึ่งคาดว่าจำนวนบัตรที่จะยกเลิกเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ในระดับเท่าเดิมทุกปี

“การล้างพอร์ตบัตรเครดิตที่ไม่มีการใช้จ่ายเราเริ่มทำมาได้ 1-2 ปีแล้ว และคาดว่าจะทำต่อเนื่องทุกปี โดยจะดูบัตรไหนที่ไม่ใช้เลยภายใน 1 ปี ก็จะเอาออก เพราะส่วนหนึ่งจะช่วยลดต้นทุนเราด้วย”

นางนพวรรณ เจิมหรรษารองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า กรณีลูกค้าที่ไม่มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเป็นเวลานาน ปกติธนาคารจะส่งหนังสือและส่งข้อความ SMS แจ้งลูกค้าถึงโปรโมชันต่างๆ ให้ลูกค้ารับทราบ ประกอบกับธนาคารอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ต้องการเปิดบัตรใหม่สามารถเปิดได้ผ่านช่องทางโมบายแบงกิ้ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้ามีความรู้สึกสะดวกและอยากใช้บัตรมากขึ้นจากอดีตที่ต้องโทร.เข้าคอลล์เซ็นเตอร์ ส่งผลให้ยอดการเปิดบัตรใหม่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในส่วนของลูกค้าที่ไม่ใช้บัตรเครดิต ธนาคารก็ทยอยปิดบัตรในอัตรามากพอสมควร จากปัจจุบันสัดส่วนบัตรเครดิตที่มียอดใช้จ่ายสมํ่าเสมออยู่ที่ประมาณ 60-70% และบัตรที่ไม่มียอดใช้จ่ายประมาณ 20-30%

นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อยธนาคารธนชาต กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่ธนาคารได้ล้างพอร์ตบัตรเครดิตที่ไม่มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตร เนื่องจากธนาคารจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการระบบ และบริหารพอร์ต

ดังนั้นนับจากนี้ธนาคารจะเริ่มเคลียร์พอร์ตในส่วนของลูกค้าที่ถือบัตรแต่ไม่ได้ใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยธนาคารเคลียร์บัตรที่ไม่มียอดใช้จ่ายภายใน 2-3ปี ซึ่งในปีก่อนธนาคารเคลียร์บัตรออกจากพอร์ตประมาณ 3-5% จากฐานบัตรเครดิตปัจจุบันมีอยู่ 5แสนใบ โดยบัตรที่มียอดใช้จ่ายสมํ่าเสมออยู่ที่ 60% และใช้จ่ายบ้างอยู่ที่ 40%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,266 วันที่ 1- 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560