ผวาจีนโละเครื่องผลิตเหล็ก ดอดตั้งรง.ในไทย-สั่งคุมสวล.

03 มิ.ย. 2560 | 05:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เหล็กไทยผวา! หลังรัฐบาลจีนประกาศโละเครื่องจักรเก่าเลิกผลิตเหล็กจำนวนกว่า100ล้านตัน หวั่น ทะลักเข้าไทยและอาเซียน มาทั้งในรูปขายเครื่องจักรเก่า และเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็ก ในไทย กระทรวงอุตสาหกรรมไม่นอนใจ สั่งสศอ.ศึกษาผลกระทบ กำหนดเงื่อนไข ด้านสิ่งแวดล้อมเข้มข้นขึ้น ให้กรมโรงงานถือปฏิบัติก่อนออกใบรง.4 คาดประกาศใช้ภายในปีนี้

ในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา การแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กในอาเซียน ยกระดับความรุนแรงมากขึ้น เมื่อปี2559พบว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการนำเข้าสินค้าเหล็กทั้งสิ้น 69.3 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นเหล็กที่ทุ่มตลาดมาจากจีนมากถึง 36.7- 40 ล้านตัน ส่วนใหญ่ส่งเข้ามาตีตลาดไทยและเวียดนามเป็นหลัก ขายในราคาถูกกว่าผู้ผลิตในประเทศตั้งแต่ 20-50%โดยเฉลี่ย โดยจีนมีความได้เปรียบในแง่ปริมาณผลิตที่มากกว่า มีต้นทุนรวมถูกกว่า จนเป็นเหตุให้หลายประเทศต้องออก มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด) รวมถึงประเทศไทย แต่ก็ยังไม่สามารถรับแรงต้านนี้ได้ทั้งหมด

ล่าสุดนายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการบริหารบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด(มหาชน) หรือ MILLเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เมื่อปี2559 รัฐบาลจีนประกาศให้ปิดเตาถลุงและเตาหลอมที่มีขนาดเล็กและปิดโรงงานผลิตคุณภาพต่ำรวมกำลังผลิตราว100ล้านตัน โดยรัฐจ่ายเงินชดเชยในการปิดให้ เนื่องจากเป็นโรงงานที่เก่าล้าสมัย มีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันไม่ได้ แม้ว่าในช่วงต้นปี2560 จะพบว่ามีปริมาณเหล็กจากจีนเข้ามาทุ่มตลาดในอาเซียนลดลงเพราะโรงงานดังกล่าวถูกปิดลง แต่ในช่วงครึ่งปีหลังปี2560เป็นต้นไป ผลต่อเนื่องจากการปิดโรงงานผลิตเหล็กในจีนจะปรากฏ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูง ที่เครื่องจักรเก่าจากจีนจะถูกแปรสภาพออกมา 3ส่วน คือ 1.ขายเป็นเศษเหล็ก 2.ส่งออกเครื่องจักรมือ2 หรือมือ3 ออกมาขายต่อยังตลาดอาเซียนและ3.ย้ายเครื่องจักรเก่าออกมาตั้งโรงงานในไทยและประเทศอื่นในอาเซียน

"จากข้อกังวลนี้ ทำให้เมื่อปี2559 มีการเรียกร้องไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ห้ามตั้งห้ามขยายโรงานผลิตเหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กแท่ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และทราบว่าสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำการศึกษาผลกระทบดังกล่าวแล้วก่อนหน้านี้"

สอดคล้องกับที่ดร.ฐิติกร ทรัพย์บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แอลพีเอ็น เพลทมิน จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จีนจะย้ายโรงงานผลิตเหล็กคุณภาพต่ำมายังไทย เพราะปัจจุบันถ้าเหล็กสำเร็จรูปนำเข้ามาจากจีนจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าหรือเอดีรวมถึงเซฟการ์ด แต่ถ้าจีนมาตั้งโรงงานผลิตในไทยถ้านำเข้าวัตถุดิบจะไม่ถูกกีดกัน ถ้าเข้ามาตั้งโรงงานในไทยได้สำเร็จ จีนจะกลายเป็นผู้ผลิตที่ได้เปรียบเพราะลงทุนไม่สูง ในขณะที่บริษัทข้ามชาติอย่างกลุ่มทาทา สตีล (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน)ลงทุนสูงกว่า เพราะใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า ในขณะที่ด้านการขายผู้ผลิตจีนก็จะได้เปรียบกว่า เนื่องจากมีราคาขาย ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการของถูก หากรัฐบาลไม่ดำเนินการปกป้องให้ดีโอกาสที่เหล็กจากจีนจะเข้ามากลืนตลาดได้ก็มีความเป็นไปได้สูงสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

[caption id="attachment_156775" align="aligncenter" width="450"] นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ นายศิริรุจ จุลกะรัตน์[/caption]

ต่อเรื่องนี้นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ(สศอ.) กล่าวว่าขณะนี้ผลการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กที่ยั่งยืนเสร็จแล้ว โดยเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ตามผลการศีกษาของสศอ.เสนอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณา เพื่อจัดทำเป็นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์และมาตรฐานการควบคุมการใช้พลังงาน และการควบคุมมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับการจัดตั้งโรงงาน(ใหม่) ผลิตเหล็กแท่ง เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อยสำหรับงานก่อสร้าง และเหล็กแผ่นรีดร้อนภายในราชอาณาจักรไทย ก่อนที่จะออกใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือ(รง.4) โดยมีเกณฑ์พิจารณาดังนี้

1. การกำหนดประเภทเตาและกำลังผลิตสำหรับโรงงานผลิตเหล็ก เพื่อให้การใช้พลังงานต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพสูง จึงเห็นสมควรให้ระบุชนิดของเตาที่มีประสิทธิภาพสูงและกำลังการผลิตที่มีความเหมาะสมเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic of Scale)

2.การกำหนดดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ (จิกะจูล/ตันของผลิตภัณฑ์ หรือ GJ/Ton-Steel) เพื่อให้ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานดังกล่าวมีค่าสูง เตาและเครื่องจักรในกระบวนการผลิตจะต้องได้รับการออกแบบและเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัยตามBAT หรือ Best Available Techniques และ 3.กำหนดให้การออกแบบระบบการจัดการจัดการสิ่งแวดล้อม (อากาศและน้ำ), ของเสีย และกากอุตสาหกรรม ให้เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัยตาม BAT หรือ Best Available Technology ) และห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน (Zero Discharge)

"ล่าสุดผลการศึกษาดังกล่าวได้ยื่นเรื่องไปยังดร. สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว คาดว่าอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการกำหนดเงื่อนไขและการตั้งโรงงานเหล็ก เพื่อให้กรมโรงงานกำหนดเป็นเงื่อนไขพร้อมประกาศใช้ได้ภายในปีนี้"

ส่วนข้อเสนอจากภาคเอกชนกลุ่มเหล็กก่อนหน้านี้ ที่ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกกฏห้ามตั้งโรงงานผลิตเหล็กในไทยนั้น ไม่สามารถทำได้เพราะจะไปขัดกับกฏ WTO

P2-3266-a-503x468 ข้อมูลจากWorld Steel Association ระบุว่าจีนมีการผลิตเหล็กดิบหรือเหล็กขั้นต้นที่ยังไม่ได้นำไปแปรรูป เช่น เหล็กแท่งแบน(Slab) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการนำไปแปรรูปเป็นเหล็กรูปทรงแบน และบิลเล็ท(Billet)วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กรูปทรงยาวเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ1ของโลก มีความสามารถในการผลิตมากถึง1,036-1,140 ล้านตัน เมื่อปี 2558 มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 803.8 ล้านตัน มีการบริโภคภายในประเทศจีน700.4 ล้านตัน มีกำลังผลิตส่วนเกินที่ล้นตลาดอยู่ราว 236-336 ล้านตัน ทำให้กำลังผลิตส่วนเกินถูกระบายออกมายังตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกนับจากนี้ไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,266 วันที่ 1- 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560