พอเพียงอย่างพอใจ : การบินไทย...คอร์รัปชันเชิงนโยบายให้ยึดนกแอร์

30 พ.ค. 2560 | 09:33 น.
พอเพียงอย่างพอใจ 
โดย : ฉาย บุนนาค

การบินไทย...คอร์รัปชันเชิงนโยบายให้ยึดนกแอร์

การประกาศไม่เพิ่มทุนตามสิทธิ์ใน บมจ.สายการบินนกแอร์ ของการบินไทย ...รัฐวิสาหกิจของชาติไทย มันบ่งบอกอะไรบ้าง? คนหลงประเด็นหลายคน ตั้งคำถามไปที่นกแอร์ ว่า "จะไปรอดไหม" ในเมื่อบริษัทแม่ยังไม่เพิ่มทุนเลย...ความจริง...นี้คือการเบียดบังประโยชน์ของประเทศชาติแบบ Smooth as Silk ของกลุ่มคนซึ่งอาศัยโอกาสและเกมการเงินที่แยบยลลองย้อนลำดับเรื่องราวของนกแอร์และจินตนาการว่าเราคือเจ้าของการบินไทย ...

1.บมจ. สายการบินนกแอร์ ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 7 ราย หลักๆ คือ 1.การบินไทย (เรา) 245 ล้านหุ้น หรือ 49 % 2.บริษัท Aviation Investment International 125 ล้านหุ้น หรือ 25% 3.นายพาที สารสิน 25 ล้านหุ้น หรือ 5% ... ดังนั้นนกแอร์คือบริษัทที่การบินไทย ถือหุ้นอันดับหนึ่งและมีตัวแทนกรรมการดูแลทิศทางและผลประโยชน์

2.ในเดือนมิถุนายน 2556 บมจ. สายการบินนกแอร์ ได้ทำการเสนอหุ้นขายประชาชน (IPO) 125 ล้านหุ้น ราคา 26 บาท ระดมทุนเข้าบริษัทไป 3250 ล้านบาท

3.ตั้งแต่เข้าตลาดจนถึงวันนี้ ... ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนหลักของการบินไทยทั้ง บริษัท Aviation Investment International และ คุณพาที สารสิน ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบินนกแอร์ ได้ขายหุ้นออกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ราคา 26 บาท จนถึง 7 บาทต้นๆ โดยคุณพาที รับเงินไปกว่า 128 ล้านบาท และเหลือหุ้นเพียง 2.02% หรือ 12.6 ล้านหุ้น  โดยการบินไทยไม่เคยขายหุ้นแม้แต่หุ้นเดียว ตั้งแต่ราคา 26 บาท จนถึงปัจจุบัน 4 บาทกว่า

4.บมจ. สายการบินนกแอร์ มีผลการดำเนินงานขาดทุนตลอด 3 ปี (2557 ถึง 2559) เกือบ 4,000 ล้านบาท จากกำไร 1,000 กว่าล้านบาทในปี 2556 และยังไม่เคยเปลี่ยนผู้บริหาร

5.วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 บมจ.สายการบินนกแอร์ประกาศขาดทุนอีก 295 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบไป 56 ล้านบาท ... คณะกรรมการบริษัทสายการบินนกแอร์ จึงประกาศเพิ่มทุน 1 หุ้นเดิม ได้ 1 หุ้นใหม่ ราคาต่ำ 2.40 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด กว่า 300% (ราคาตลาด 7.50 บาท ต่อราคาเพิ่มทุนที่ 2.40 บาท) โดยทั้งหมดนี้ ได้ผ่านการคัดกรองและความเห็นชอบร่วมจากตัวแทนของการบินไทย

6.วันที่ 19 เมษายน 2560 ในการประชุมผู้ถือหุ้นของ บมจ. สายการบินนกแอร์ คณะกรรมการของการบินไทย ได้อนุมัติให้ลงมติ "เห็นด้วย"  ในวาระการเพิ่มทุน

7.วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ...การบินไทย บริษัทของชาติ ได้สละสิทธิ์เพิ่มทุนในนกแอร์ โดยราคาตลาดอยู่ที่ 4.80 บาท หรือ upside 100% จากราคาเพิ่มทุน โดยอ้างว่าแผนใช้เงินไม่ชัดเจน
สรุปคือ คณะกรรมการการบินไทย เห็นชอบให้บมจ.สายการบินนกแอร์มีการเพิ่มทุนราคาต่ำ (มาก) กว่า 300% ... แต่ตนเองไม่ใช้สิทธิ์ทั้งที่อนุมัติเอง และปล่อยให้ผู้บริหารที่ขายหุ้นทิ้ง กลับมาซื้อหุ้นใหม่ในราคา 2.40 บาท และได้สัดส่วนหุ้นกลับไปใกล้เคียงเดิม...
หากจะอ้างว่าไม่เพิ่มทุนเพราะแผนการใช้เงินไม่ชัดเจน... ทำไมท่านไม่คัดค้านหรือสรุปให้แน่ชัดก่อนไปลงมติเห็นชอบกับ บมจ. สายการบินนกแอร์? ทำไมไม่ขายทิ้งไปเลย?

การกระทำลักษณะอย่างนี้ ประชาชนคนไทยคิดได้ไหมว่าคณะกรรมการการบินไทย เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหม่และผู้บริหารนกแอร์มาเพิ่มทุนในราคาต่ำกว่าตลาดเดิมกว่า 3 เท่าและลดสัดส่วนการบินไทยโดยทางอ้อมเหลือไม่ถึง 20%... "รัฐวิสาหกิจ คือ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ และคือสมบัติของชาติ"

ในอดีตการบินไทยเป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองและข้าราชการ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง เรียกได้ว่า "คอร์รัปชันเชิงปฏิบัติ" แบบหักหัวคิวและติดสินบน ปัจจุบันการเบียดบังผลประโยชน์ของชาติแนบเนียนขึ้น กลายเป็น "คอร์รัปชันเชิงนโยบาย" ให้กลุ่มทุนใหม่และผู้บริหารได้ประโยชน์ การบินไทยรักคุณ... เท่าฟ้า แต่ใยไม่รักชาติและแผ่นดินหรือ?
คอลัมน์ : พอเพียงอย่างพอใจ /หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่  3266 ระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย.2560