เพิ่มหุ้นต่างชาติดันMROอู่ตะเภา ออสซี่มองโอกาสธุรกิจฝึกอบรมด้านวิศวกรรมการบินในไทย

01 มิ.ย. 2560 | 05:00 น.
ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน-ธุรกิจเกี่ยวเนื่องของต่างชาติ เริ่มขยับรับรัฐบาลไฟเขียว MRO จากต่างประเทศ ถือหุ้นเกิน 50% เปิดทางแอร์บัส ร่วมทุนการบินไทย ลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา ธุรกิจการบินออสซี่ มองโอกาสขยายการฝึกด้านวิศวกรรมการบินในไทย

การที่รัฐบาลไฟเขียวให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้เกิน 50 % เพื่อดำเนินธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน(Maintenance Repair and Overhaul) หรือ MRO ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ไม่เพียงเป็นการเปิดช่องให้แอร์บัส เข้ามาร่วมลงทุนกับการบินไทย ดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยานในสนามบินอู่ตะเภาเท่านั้น ยังส่งให้โครงการที่เนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนด้านวิศวกรรมการบิน การพัฒนาบุคลากรด้านการบินในพื้นที่ เป็นที่สนใจของกลุ่มทุนจากต่างชาติด้วยเช่นกัน

นายเคนเนธ มิทเชล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ บริษัท แอโรสเปซ เทรนนิง เซอร์วิสเซส ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในการยกระดับอุตสาหกรรมการบินให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นฮับด้าน MRO มีความสำคัญอย่างยิ่ง
“การพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเป็นโปรเจ็คต์ที่น่าตื่นเต้น ผมมองเห็นความสำคัญของโครงการนี้ต่อเศรษฐกิจของไทย และจากมุมมองของบริษัทผม ผมคิดว่าเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ อาจจะเป็นการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนทำธุรกิจ โดยบริษัทเราเน้นด้านการฝึกอบรมด้านวิศวกรรม”

นายมิทเชล กล่าวต่อไปว่า บริษัทสามารถเข้ามาร่วมมือกับหุ้นส่วนในไทยที่ทำธุรกิจด้านฝึกอบรม หรือ MRO เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาทักษะของทีมวิศวกรรม รวมไปถึงการฝึกอบรมพนักงานลูกเรือ “เราต้องการนำความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาเป็นเวลา 20 ปีเข้ามาในไทยเพื่อช่วยให้รัฐบาลไทยทำได้ตามเป้าหมาย เรามีโอกาสพูดคุยกับหุ้นส่วนจากไทยบ้างแล้วและหวังว่าจะยกระดับความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต”

นายสตีฟ ชิว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอนเซตต์ เอวิเอชัน เอเชีย ผู้ให้บริการศูนย์ฝึกซิมูเลชันสำหรับนักบิน กล่าวว่า ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ทิศทางที่อุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่างรวดเร็ว จากตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานเรื่องสนามบินในกรุงเทพฯอยู่ในระดับที่ดีมาก คิดว่ามีโอกาสที่ดีสำหรับผู้ให้บริการจากออสเตรเลียที่จะเข้ามามองหาโอกาสในหลายๆ ด้านของตลาด

ขณะเดียวกันเชื่อว่า โครงการพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภามีความน่าสนใจพอที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามา เพราะสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในแผนพัฒนาคือสิ่งสำคัญที่จำเป็นในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ขณะเดียวกันก็สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าสายการบินจะไปตั้งฮับอยู่ที่นั่นด้วยหรือไม่

“สำหรับเราซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรม เราต้องจำเป็นต้องอยู่ใกล้กับสนามบินที่สายการบินมีฐานของลูกเรือที่นั่น เพราะเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ต้องการให้ลูกเรือต้องเดินทางไกลมาทำการฝึก ผมจึงสนใจที่จะรู้ว่าสายการบินใดจะไปอยู่ที่นั่นบ้าง มีลูกเรือเท่าไหร่ ทราฟฟิกมากน้อยแค่ไหน จากนั้นเราจึงจะสามารถวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจว่าจะมีโอกาสที่เราจะเข้ามาหรือไม่”

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนฝึกอบรมด้านการบำรุงรักษาอากาศยานเพียงแห่งเดียว แต่ขณะเดียวกันมีความต้องการในธุรกิจด้านนี้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง นอกจากนี้ ในอนาคตทางกพท. มีนโยบายที่จะสนับสนุนด้าน MRO และการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินให้มากขึ้น ซึ่งกำลังมีการหารือว่าจะปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจนี้ได้ จะเป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนที่สำคัญ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,266 วันที่ 1- 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560