ประมูลปิโตรฯเลื่อนยาว เอกชนลดความสนใจรัฐผ่อนเกรณ์TORจูงใจ

01 มิ.ย. 2560 | 03:00 น.
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมั่นใจได้รายชื่อผู้ชนะประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชภายในเดือนมีนาคม 2561เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายรองรับระบบเอสซีทางเว็บไซต์เร็วๆนี้ ขณะที่การเจรจารับซื้อก๊าซจากแหล่งเจดีเอยังไร้ข้อสรุป หวังป้อนโรงไฟฟ้าจะนะ3 รับวิกฤติก๊าซปี 2564-2566

แม้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม แล้วก็ตาม แต่ก็ยังติดปัญหาว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเมื่อใด ในขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(กช.) อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายรอง 5 ฉบับและ 1 ประกาศ ขนานไปกับการรอพ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ เพื่อนำไปสู่การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566

ทั้งนี้ จากความล่าช้าในการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว จากเดิมที่คาดว่าช้าสุดจะเปิดได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม จำเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนสิงหาคมปีนี้แทน ซึ่งจะส่งผลต่อความสนใจของเอกชนที่จะเข้ามาประมูลลดน้อยลง

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายรอง เพื่อรองรับการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุ โดยล่าสุดกรมฯได้เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับกฎกระทรวง 3 ฉบับที่เป็นกฎหมายลูกเกี่ยวกับการรองรับระบบระบบแบ่งปังผลผลิต(พีเอสซี) เมื่อวันที่ 11-26 พฤษภาคมที่ผ่านมาไปแล้ว

ขณะที่กฎหมายรองเพื่อรองรับระบบสัญญาจ้างบริการ(เอสซี) อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าคณะอนุกรรมการปิโตรเลียม จากนั้นจะเสนอเข้าคณะกรรมการปิโตรเลียม และจะประกาศลงเว็บไซต์เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

ส่วนพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อยู่ระหว่างรอประกาศใช้ ดังนั้นหากกฎหมายลูกแล้วเสร็จ ขั้นตอนกระบวนการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช และจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 7 เดือน จะได้รายชื่อผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ภายในเดือนมีนาคม 2561

โดยในส่วนของการจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประมูล(ทีโออาร์)สำหรับการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 50% ขณะที่มีเอกชนหลายรายแสดงความสนใจ แต่ต้องขึ้นอยู่กับทีโออาร์ด้วยว่าจะเข้มงวดมากหรือไม่ หากเข้มงวดมาก็อาจไม่มีเอกชนร่วมประมูลมากนัก และความล่าช้าประมูลที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลให้ความน่าสนใจของเอกชนที่จะมาร่วมประมูลลดลง

สำหรับหลักเกณฑ์คราวๆในทีโออาร์ คือ ปริมาณการผลิตต้องมีความต่อเนื่องภายหลังปี 2565 ซึ่งกรมฯตั้งเป้ากำลังการผลิตไว้ที่ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตอยู่ราว 2.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมถึงราคาก๊าซบางส่วนอาจต้องมีการกำหนดกันใหม่ และการกำหนดคุณสมบัติบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลต้องมีประสบการณ์ เป็นต้น

"ต้องดูว่าผู้ชนะการประมูลเป็นรายเก่าหรือรายใหม่ เพราะในทีโออาร์จะต้องกำหนดปริมารการผลิตก๊าซไว้ด้วยที่ระดับ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่ปี 2565 แต่กรณีที่เป็นรายใหม่คงต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี"นายวีระศักดิ์ กล่าว

สำหรับกฎหมายรอง ประกอบด้วยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (ม.53/1) ,กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตนำส่งค่าภาคหลวงแก่รัฐ (ม.53/6) ,กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (ม.53/2) ,กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้มาซึ่งผู้รับสัญญาจ้างบริการ (ม.53/9) ,กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างบริการ (ม.53/10) แบ่งเป็น แบบสัญญาจ้างสำรวจ แบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต และแบบสัญญาจ้างผลิต

ส่วนการเจรจารับซื้อก๊าซจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) เพื่อรองรับวิกฤตทีจะเกิดขึ้นปี 2564 นั้น อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา แนวทางเลือกว่าจะนำก๊าซในแหล่งดังกล่าวมาให้ไทยใช้ก่อนหรืออาจรับซื้อในสัดส่วนของมาเลเซียก่อน เพื่อป้อนก๊าซให้กับโงไฟฟ้าจะนะ 3 กำลังการผลิต 1 พันเมกะวัตต์ มีความต้องการใช้ก๊าซอยู่ที่ 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยแนวทางดังกล่าวกรมต้องประเมินอีกครั้งภายหลังการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชมีความชัดเจนแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,266 วันที่ 1- 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560