6กลุ่มอาหารลุ้นเป้า2.1แสนล. ผ่าน4เดือนแรกยังติดลบ-หวังQ4พุ่งฝ่าปัจจัยเสี่ยงอื้อ

02 มิ.ย. 2560 | 03:00 น.
ส่งออกอาหารสำเร็จรูป 6 กลุ่มใหญ่จ่อปรับลดเป้าช่วงครึ่งหลัง หลังผ่าน 4 เดือนแรกยังติดลบ 4.6%“สับปะรด-อาหารทะเล ผักและผลไม้” ตัวฉุด สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปลุ้นไตรมาส 4 กลับมาสดใสท่ามกลางปัจจัยลบยังมากกว่าปัจจัยบวก

จากสถาบันอาหารเปิดเผยถึงการส่งออกอาหารทุกประเภทของไทยในไตรมาสที่1/2560 มีมูลค่า 2.36 แสนล้านบาท ขยายตัวลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยระบุมีปัจจัยสำคัญจากเงินบาทแข็งค่า(ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 34บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่ยังต้องลุ้นเป้าหมายการส่งออกอาหารทั้งปีนี้ที่1 ล้านล้านบาทนั้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการส่งออกอาหารสำเร็จรูปใน 6 กลุ่มสินค้าที่ส่งออกโดยสมาชิกของสมาคมเกือบ 200 บริษัท(ทูน่าอาหารทะเล,สับปะรด,ข้าวโพดหวาน, ผักและผลไม้ และอาหารพร้อมทาน) ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 6.27 หมื่นล้านบาทลดลง 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 6.57 หมื่นล้านบาท

โดยสินค้าหลักที่ส่งออกลดลงได้แก่ ผลิตภัณฑ์สับปะรดส่งออก 9,463 ล้านบาท (-14.3%)อาหารทะเลส่งออก 3,592 ล้านบาท(-8.6%) ผักและผลไม้กระป๋อง9,438 ล้านบาท(-6.4%) และอาหารพร้อมทาน 1.37 หมื่นล้านบาท(-6.7%) ส่วนกลุ่มที่ยังขยายตัวเป็นบวกได้แก่ ทูน่าส่งออก 2.42 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 2.1% และข้าวโพดหวาน 2,217 ล้านบาท ขยายตัว +1%

“ที่ติดลบหลักๆ คือ กลุ่มสับปะรด จากราคาวัตถุดิบปีที่แล้วมีภัยแล้ง ผลผลิตสับปะรดลดลง ราคาที่เกษตรกรขายเข้าโรงงานได้ถึง 14-15 บาท/กก.ราคาขายสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ จากราคาที่สูงขึ้นมากผู้นำเข้าจึงชะลอการสั่งซื้อและหันไปนำเข้าผักผลไม้ชนิดอื่นทดแทนเพิ่มขึ้น ขณะที่ปีนี้ไม่มีภาวะภัยแล้ง ผลผลิตสับปะรดเพิ่มขึ้นมาก ราคาวัตถุดิบป้อนโรงงานลดลงเหลือเฉลี่ย 5 บาท/กก. มองว่าเป็นจุดตํ่าสุดของราคาผลิตภัณฑ์สับปะรดส่งออกที่ลดลงจากเดิมแล้ว 15-20%คาดคู่ค้าจะเริ่มกลับมานำเข้าเพิ่มขึ้นอีกครั้ง”

ขณะที่อาหารทะเลที่ส่งออกลดลงจากวัตถุดิบปลาซาร์ดีน และแมคเคอเรลขาดแคลนอันเนื่องมาจากกฎระเบียบเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย(ไอยูยู) ทำ ให้เงื่อนไขการจับปลาเข้มงวดขึ้น จับได้น้อยลง ราคาวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น จึงส่งออกได้ลดลง ส่วนหนึ่งผลจากคู่ค้าหันไปนำเข้าสินค้ากุ้งและไก่จากไทยทดแทนอาหารทะเลเพิ่มขึ้นส่วนผักผลไม้กระป๋อง มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการแปรรูปเบื้องต้นเช่นแรงงานคว้านเอาเมล็ดออกในโรงงานเงาะ ลิ้นจี่ และลำไยกระป๋อง และขาดการลงทุนวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรแทนแรงงานคน ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ส่งออกได้ลดลง

ส่วนกลุ่มที่ยังขยายตัวเช่น ทูน่า แม้มีปัญหาปริมาณวัตถุดิบลดลงจากมาตรการไอยูยู แต่จากราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกจึงยังไปดี และข้าวโพดหวานยังส่งออกได้ จากผู้ส่งออกไทยหันไปทำตลาดในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นเกาหลี รัสเซีย และซีไอเอสทดแทนตลาดสหภาพยุโรป(อียู)ที่ไทยยังถูกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารสำเร็จรูปของไทยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้คาดจะยังติดลบ และจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นไฮซีซันของการซื้อขาย อย่างไรก็ดีหลังผ่านครึ่งปีนี้ไปแล้วทางสมาคมจะได้มีการพิจารณาปรับคาดการณ์ส่งออกอาหารสำเร็จรูปใหม่ว่าจะได้ตามคาดการณ์หรือไม่ จากต้นปี2560 คาดจะส่งออกได้ที่ 2.1แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5% โดยมีปัจจัยบวกเช่น ทิศทางเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ราคานํ้ามันดิบสูงขึ้นทำให้ประเทศคู่ค้าที่ส่งออกนํ้ามันมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และดินฟ้าอากาศดีขึ้นกว่าปีที่แล้วที่มีภัยแล้ง ทำให้มีวัตถุดิบเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง อาทิการกีดกันทางการค้า นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ยังไม่แน่นอน การแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น การขาดแคลนตู้สินค้าสำหรับส่งออกราคาบรรจุภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นและวัตถุดิบบางรายการมีปริมาณมาก ราคาตํ่าลง ทำให้มูลค่าสินค้าตํ่าลง เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,266 วันที่ 1- 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560