ซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. เดินหน้าสร้างนักศึกษา สู่ สตาร์ทอัพ

29 พ.ค. 2560 | 10:43 น.
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรม Demo Day นำเสนอแนวคิดผลงาน 9 ทีมสุดท้ายใน “โครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจเริ่มต้น (Digital Innovation Startup Apprentice)” หวังเป็นเวทีสร้างประสบการณ์นำเสนอผลงานอย่างเป็นทางการ รวมถึงสร้างทักษะแก่นักศึกษาตรี-โท-เอก รวมถึงที่จบใหม่ และนักพัฒนาอิสระ ให้สามารถสร้างนวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ และพร้อมเติบโตเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ได้ต่อไป ผลทีมวอชอีซี่ (WASH’s Easy) จาก ม.ขอนแก่น ทีมปิ่นโต (Pinto) จาก ม.รังสิต และทีม (ฮัพพี่สเปซ) Huppy.Space จาก มจพ. เป็น 3 ทีมที่คว้าเงินสนับสนุนสำหรับผลงานที่สามารถต่อยอดเชิงธุรกิจได้ จำนวนทีมละ 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณ โดยมี นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เป็นผู้มอบรางวัลและร่วมแสดงความยินดี

02-นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. ได้ริเริ่มจัดทำ โครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจเริ่มต้น หรือ Digital Innovation Startup Apprentice เพื่อเปิดโอกาสการฝึกงานและสร้างทักษะสำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา (ตรี-เอก) นักศึกษาจบใหม่ หรือนักพัฒนาอิสระ โดยมุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติจริงด้านการสร้างผลงานนวัตกรรมดิจิทัลต้นแบบเพื่อใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ด้วยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถเติบโตไปเป็นวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคตได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องพัฒนาผลงานต้นแบบนวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยได้รับการอบรมทั้งด้านเทคนิคและด้านธุรกิจที่จำเป็นสำหรับการเป็น Startup เช่น การบริหารโครงการสร้างนวัตกรรม การออกแบบ Lean Startup (คือการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ช่วยให้ธุรกิจรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกยุคดิจิทัล) การลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจตลาดและความต้องการลูกค้า การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และการให้ทุนสนับสนุน เพื่อให้ผลงานนวัตกรรมพร้อมที่จะขยายผลใช้งานได้จริงในอนาคต และสามารถส่งต่อผู้เข้าร่วมโครงการให้หน่วยงานบ่มเพาะธุรกิจของภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานในปัจจุบันเพื่อบ่มเพาะธุรกิจในโอกาสต่อไป”

“โดยช่วงที่ผ่านมา (มกราคม - เมษายน 2560) โครงการฯ ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาผู้สนใจและมีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย นิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี โท เอก ที่ต้องการจะเป็น Startup และนักศึกษาที่ต้องการฝึกงานในสถานประกอบการ ซึ่งโครงการสามารถออกหนังสือรับรองการฝึกงานให้ได้ รวมถึงนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล บริหารธุรกิจ การตลาด การออกแบบ และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สาขาคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ มัลติมีเดีย บริหารธุรกิจ เกษตร อาหาร เป็นต้น ตลอดจนผู้จบการศึกษาใหม่ หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ซึ่งได้จัดอบรมทั้งในด้านเทคนิคและธุรกิจที่จำเป็นสำหรับการเป็น Startup ไปแล้วกว่า 112 คน จากทั้งสิ้น 68 โครงการ และได้คัดเลือกทีมที่มีความพร้อม จำนวน 9 ทีมสุดท้าย เข้าร่วมกิจกรรม Demo Day นำเสนอแนวคิดการพัฒนาผลงานต้นแบบนวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ ซึ่งเวทีดังกล่าวจะช่วยสร้างประสบการณ์การนำเสนอผลงานอย่างเป็นทางการ เพื่อคว้าเงินสนับสนุนสำหรับผลงานที่สามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ จำนวน 3 ทีม ทีมละ 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณ ตลอดจนโอกาสพบปะลูกค้า พบเจอนักลงทุน และสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ”

ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. กล่าวต่อว่า “ผลที่จะได้รับจากโครงการ คือ ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีทักษะในการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลต้นแบบเพื่อใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์และสามารถเป็น Startup ในอนาคต ที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจจากหน่วยงานต่างๆ ต่อไปได้ ตลอดจนช่วยสร้างให้เกิดนวัตกรรมต้นแบบที่สามารถตอบสนองความต้องการตลาดและขยายผลใช้งานได้จริง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อันประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร (Food & Agri. Tech) นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Tech) นวัตกรรมการบริการและสื่อ (Service Tech) นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ (Health Tech) และระบบควบคุมอัตโนมัติและ Internet of Things (Industry 4.0) ตามนโยบาย Thailand 4.0 ต่อไป”

ทั้งนี้ 9 ทีม ที่ร่วมนำเสนอ ได้แก่ ทีมที่ 1 Beauty Click (เว็บไซต์หาช่างแต่งหน้าทำผม) ประเภทเพิ่งจบการศึกษา (ไม่เกิน 2 ปี) จาก ม.Manchester และ ม.เกษตรศาสตร์ / ทีมที่ 2 Everysale (แอพรอคิวร้านอาหารบุฟเฟ่ต์) ประเภทนิสิตนักศึกษา จาก ม.ขอนแก่น / ทีมที่ 3 ZSAPCE (ระบบค้นหาและจองร้านกาแฟหรือร้านอาหาร) ประเภทนิสิตนักศึกษาจาก จากจุฬาลงกรณ์ฯ / ทีมที่ 4 PINTO (แอพบริการส่งอาหารกลางวันจากร้านดัง) ประเภทเพิ่งจบการศึกษา (ไม่เกิน 2 ปี) จาก ม.รังสิต / ทีมที่ 5 WASH’S EASY (แอพเติมเงินออนไลน์เพื่อใช้ในการจ่ายค่าบริการซักผ้า) ประเภทนิสิตนักศึกษา จาก ม.ขอนแก่น / ทีมที่ 6 Worldrounding (แอพหาและจองห้องพัก) ประเภทนักศึกษาที่ต้องการฝึกงาน จาก ม.ศรีปทุม ม.ศรีนครินวิโรฒ และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / ทีมที่ 7 TESR (สอนการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน Robot ผ่านสื่อออนไลน์) ประเภทนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ จากจุฬาลงกรณ์ฯ / ทีมที่ 8 Wonga (แอพทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย) ประเภทนิสิตนักศึกษา จาก ม.กรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / และทีมที่ 9 Huppy.Space (เว็บไซต์รวบรวมจุดรับพัสดุใกล้บ้าน) ประเภทนิสิตนักศึกษา จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ