ประยุทธ์สั่งเร่งระบายข้าวในสต๊อก-ขายแล้ว 13 ล้านตันได้เงินแสนล.

29 พ.ค. 2560 | 09:43 น.
ประยุทธ์ ระบุรัฐบาล คสช.ขายข้าวได้แล้วกว่า 13 ล้านตัน ได้เงินกว่าแสนล้าน สั่งระบายให้หมดภายในปีนี้ หลังแบกรับภาระค่าเก็บสต๊อกมานานเดือนละกว่าพันล้านบาท  ด้านพาณิชย์ชี้เหลือสต๊อกข้าวแค่ 2 ล้านตัน มั่นใจส่งออกข้าวได้ตามเป้า10ล้านตัน

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  กล่าวระหว่างการปาฐกถาในหัวข้อ “การค้าข้าวไทยและทิศทางในอนาคต” ในงานไทยแลนด์ ไรซ์ คอนเวนชั่น 2017   ว่า การจัดงานครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายจะมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนหาวิธีการแก้ปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยในส่วนของประเทศไทยได้มุ่งเน้นการระบายสต๊อกข้าว ซึ่งกดดันราคาข้าวมานานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้รัฐบาลสามารถระบายข้าวออกไปได้แล้วจำนวน 13 ล้านตัน จากสต๊อกที่มีอยู่ทั้งหมด 18 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

“การที่ขายข้าวได้น้อยเงินกว่างบประมาณที่ใช้ในโครงการจำนำข้าว ก็เพราะส่วนหนึ่งมีการทุจริต ทำให้ได้ข้าวคุณภาพห่วย ส่วนคดีความที่ฟ้องร้องในคดีจำนำข้าวก็ยังยืดเยื้อเพราะต้องสู้กันในศาล ซึ่งผลจากการแบกสต๊อกข้าวไว้ทำให้รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสูงถึงเดือนละกว่า 1 พันล้านบาท อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือรัฐบาลจะต้องเร่งรัดการระบายข้าวในสต๊อกให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากสต็อกข้าวเป็นอุปทานข้าวที่กดทับตลาด ทำให้กลไกการค้าข้าวปกติถูกบิดเบือนอย่างรุนแรง ดังนั้นเป้าหมายสำคัญคือการเร่งระบายสต๊อกให้หมดภายในรัฐบาลนี้ เพื่อไม่ให้รัฐต้องแบกรับภาระต่อไป และเพื่อให้กลไกตลาดกลับสู่ภาวะปกติ”

นอกจากนี้ เป้าหมายต่อไปของข้าวไทยคือการเพิ่มมูลค่าและทำให้ไทยเป็นผู้นำการค้าข้าว มีนวัตกรรมสินค้าข้าวที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สร้างกลไกข้าวให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้วางแผนยุทธศาสตร์ข้าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งการปรับโครงสร้างการผลิต การลดพื้นที่เพาะปลูกเพื่อสร้างความสมดุลย์ระหว่างการผลิตและการส่งออก ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยังสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างนวัตกรรมข้าว ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 เป้าหมายต่อไปคือการผลักดันแผนงานให้เห็นเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน ไทยยังต้องพยายามเชื่อมโยงแผนพัฒนาตลาดร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เนื่องจากมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างความรับรู้ให้ตลาดเข้าใจวิถีชุมชนและเห็นคุณค่าของข้าวมากขึ้น และการร่วมมือจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย มากกว่าจะแข่งขันกันอย่างเดียว ดังนั้นประเด็นสำคัญในขณะนี้คือการเริ่มต้นบูรณาการงานร่วมกันทั้งระบบ ภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจ และกลุ่ม CLMV ให้ความสำคัญของการเปลี่ยนถ่ายพัฒนาจากข้าวที่เคยเพาะปลูกเพื่อขายเปลี่ยนเป็นข้าวที่มีนวัตกรรม ทำราคาข้าวปรับสูงขึ้นรวมทั้งมองการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับที่ดิน

อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนความคิดอย่าปลูกพืชที่อยากปลูก แต่ให้มองโอกาสจากแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค และสิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ช่วงอุตสาหกรรมข้าวจะโตได้ก็ต้องเริ่มต้นพัฒนา ผลิตสินค้าที่โดดเด่น เช่น เบเกอร์รี่ เครื่องสำอาง แชมพู ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ เพื่อกระจายสินค้าให้ครอบคลุมกับตลาดคนหมู่มาก (mass market) ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำตลาดข้าวอย่างที่ตั้งเป้าไว้ และผลักดันไทยออกสู่กับดักรายได้ปานกลางภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาความตกลงซื้อ-ขายข้าว รัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี กับรัฐบาลจีนซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่าการจะคบหากับใครอย่ามองแต่เป็นผู้รับแต่ให้มองเรื่องความสัมพันธ์กับคู่ค้าด้วย ซึ่งปัญหาเกิดจากติดขัดในการเจรจาเรื่องอื่นจึงกระทบต่อการเจรจาค้าข้าว ส่วนโครงการนาแปลงใหญ่ที่คืบหน้าช้า ต้องชี้แจงว่านาแปลงใหญ่กำหนดแนวทางไว้ชัดเจนที่จะยกคุณภาพพืชผลทางการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร  เพราะบางส่วนมีปัญหาหนี้สินและบางส่วนไม่ยอมปรับพฤติกรรมการทำนา

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มข้าวในปีนี้ตลาดซื้อขายข้าวกลับมาเป็นของไทยอีกครั้งแล้วมั่นใจว่าจะส่งออกไปได้ถึง 10 ล้านตัน เพราะเศรษฐกิจโลก และประเทศผู้นำเข้าข้าวไทยก็กลับมาฟื้นตัวบางตลาดที่เคยหายไปก็กลับมาสนใจซื้อข้าวไทยอีกครั้งเช่น อิรัก อิหร่าน ประเทศในแอฟริกา จีน ฮ่องกง โดยขณะนี้บางประเทศได้ส่งตัวแทนมาเจรจาเพื่อนำเข้าข้าวและความร่วมมืออื่นๆจากไทยในงาน Thailand Rice Convention 2017 (TRC 2017) รวมทั้งแนวโน้มตลาดอื่นๆก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับบริโภคข้าวอื่นๆนอกจากข้าวขาว เช่น ข้าวสี ข้าวอินทรีย์ ส่วนปัญหาอุปสรรคของข้าวไทยในตลาดโลกนั้นในปีก่อนประสบปัญหาราคาตกต่ำแต่ปีนี้ราคาดีขึ้นอย่างมาก โดยมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลได้ระบายข้าวเกือบหมดสต๊อกแล้วเหลือเพียง 2 ล้านตันเท่านั้น จึงมีผลทางจิตวิทยา รวมทั้งรัฐบาลจะผลักดันให้นำมีการทำผลงานการวิจัยเรื่องข้าวมาพัฒนาเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นด้วย ทั้งในส่วนของข้าวที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร

ส่วนทิศทางการพัฒนาตลาดข้าว ควรจะเน้นเชื่อมโยงนวัตกรรมการวิจัยมาสู่สินค้าในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งในส่วนของข้าวที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ Rice Plus และได้จัดเตรียมห้องสำหรับเจรจาการค้าเพื่อให้ผู้ส่งออกข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าวของไทยได้จับคู่เจรจาธุรกิจการค้ากับผู้นำเข้าจากประเทศต่างๆ กว่า 40 ประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม อิรัก อิหร่าน และแอฟริกาใต้ เป็นต้น โดยในวัน 30 พ.คนี้ ผู้แทนจากต่างประเทศที่เข้าร่วมงานก็จะไปดูงานเกี่ยวกับข้าวและนวัตกรรมข้าวของไทย ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งเปรียบเสมือนห้องทดลองงานด้านข้าวครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย รวมทั้งยังจะเข้าเยี่ยมชมกระบวนการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาข้าวมีความซับซ้อน ดังนั้นการแก้ไขจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งการปรับโครงสร้างการผลิต การลดพื้นที่เพาะปลูกเพื่อสร้างความสมดุลย์ระหว่างการผลิตและการส่งออก ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยังสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างนวัตกรรมข้าว ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ขณะเดียวกัน ไทยยังพยายามเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เนื่องจากมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างความรับรู้ให้ตลาดเข้าใจวิถีชุมชนและเห็นคุณค่าของข้าวมากขึ้น และการร่วมมือจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย มากกว่าจะแข่งขันกันอย่างเดียว

สำหรับปัญหาความตกลงซื้อ-ขายข้าว หรือจีทูจี กับรัฐบาลจีนซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าในทางปฏิบัตินั้น นายกรัฐมนตรีบอกว่าการจะคบหากับใครไทยก็ต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ซึ่งปัญหาเกิดจากติดขัดในการเจรจาเรื่องอื่นจึงกระทบต่อการเจรจาค้าข้าว ก็อยากให้รู้จักการรับแล้วต้องรู้จักการให้ด้วย เช่นเดียวกับโครงการนาแปลงใหญ่ ที่คืบหน้าช้าเพราะบางส่วนมีปัญหาหนี้สินและบางส่วนไม่ยอมปรับพฤติกรรมการทำนา ส่วนการพัฒนานวัตกรรมสินค้าข้าวนั้น หากจะให้รัฐบาลเพิ่มงบวิจัยก็ต้องมีการปรับแก้กฎระเบียบการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่ต้องนำมาสู่การผลิตสินค้าที่จำหน่ายได้จริง