"จุฬางกูร-เซ็นทรัล" ต่อชีวิต! "นกแอร์"

29 พ.ค. 2560 | 08:55 น.
“นกแอร์” ระดมทุนได้ 1.22 พันล้านบาท หลังบินไทยเมิน คาดต่อสภาพคล่องได้อีก 4-6 เดือน จ่อดึงกลุ่มทุนจีนร่วมถือหุ้น เผยล่าสุดกลุ่มจุฬางกูร ผงาดกุมหุ้นใหญ่สัดส่วน 34% “สมใจนึก” ยํ้าทำงานเป็นทีม

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการบริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลการขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 625 ล้านหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) ของบริษัทสายการบินนกแอร์เบื้องต้น แม้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 39.2% ไม่ได้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ แต่มีผู้ถือหุ้นรายอื่นจองซื้อเข้ามาตามสิทธิและจองเกินสิทธิทำให้สามารถระดมทุนจากการขายหุ้นอยู่ที่ 1,224.6 ล้านบาท จากหุ้นที่จองซื้อเข้ามาทั้งหมด 510.9 ล้านหุ้น คงเหลือหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่มีผู้ใช้สิทธิ 114 ล้านหุ้น ซึ่งตํ่ากว่าเป้าหมายเล็กน้อยที่คาดว่าการขายหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิในครั้งนี้จะได้เม็ดเงินอยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาท

“การบินไทยไม่ซื้อหุ้นทุนตามสิทธิ เม็ดเงินจึงหายไปแค่เกือบ 300 ล้านบาท ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของนกแอร์และเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจช่วง 4-6 เดือนนับจากนี้ ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซัน ระหว่างรอรายได้ที่จะเพิ่มเข้ามามากในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับแผนการลดค่าใช้จ่าย และการส่งคืนนักบินต่างชาติซึ่งครบสัญญา จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ราว 50 ล้านบาทต่อเดือน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องบินเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 11 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน จากปี2559 ที่อยู่ที่ราว 8 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามา” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ในอีกไม่กี่เดือนนกแอร์ มีแผนจะเพิ่มทุนใหม่อีกครั้งโดยจะดึงต่างชาติเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรในการลงทุน ที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาอีกหลายพันล้านบาท ในการขยายธุรกิจ ระยะยาวและการบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้นนายพาที สารสิน ซีอีโอ ได้ทาบทาม 2 กลุ่มทุนเข้าร่วมคือ นักลงทุนจากจีนที่ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่ในจีน และ2.สายการบินสกู๊ต สายการบินต้นทุนตํ่าของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ซึ่งกลุ่มทุนจากจีนมีความสนใจมากกว่าเพราะจะเอื้อต่อการขยายธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย

tp15-3265-3

“คุณพาทีติดต่อกับกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ จึงต้องใช้เวลาจึงจะประกาศอย่างเป็นทางการ การดึงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นส่วนหนึ่งแต่ไม่ได้มากจนสายการบินนกแอร์ เป็นของต่างชาติเหมือนที่ไปกล่าวกัน แต่เราดึงมา เป็นพันธมิตรจะส่งผลดีต่อการขยายธุรกิจของนกแอร์เป็นหลักและมั่นใจได้ว่านกแอร์ ยังเป็นสายการบินของคนไทย”

ด้านนายสมใจนึก เองตระกูล ประธานบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด ยืนยันกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสถานการณ์ของนกแอร์ขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่โอเค จากที่ผ่านมาเราผ่านปัญหามามาก ขณะนี้การแก้ไขของสถานการณ์ก็ดำเนินการร่วมกันโดยผมในฐานะประธานบอร์ดนายวิสิฐ ตันติสุนทร ประธานบอร์ดบริหารนกแอร์ ก็เข้าทำงานร่วมกับนายพาที สารสิน ในการจัดทำแผนที่จะทำให้ทิศทางดีขึ้น แก้ไขปัญหาการขาดทุน ด้วยการทำงานเป็นทีม จึงมั่นใจนกแอร์จะมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยนายพาที ก็ยังเป็นซีอีโออยู่เหมือนเดิม

แหล่งข่าวจากกลุ่มจุฬางกูร เปิดเผยว่า“กลุ่มจุฬางกูร ซึ่งประกอบด้วยนายทวีฉัตรและนายรัฐพล ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท สายการบินนกแอร์ฯ (NOK)เต็มจำนวน และใช้สิทธิเกินอีก 50 ล้านหุ้น เป็นเม็ดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 454 ล้านบาท ขณะที่หุ้นเพิ่มทุนนกแอร์ที่บริษัทการบิน ไทยฯไม่ใช้สิทธิ 245 ล้านหุ้น แต่มีผู้ถือหุ้นเดิมเพิ่มทุนเกินสิทธิ 131 ล้านหุ้น คงเหลือหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่มีผู้ใช้สิทธิเหลือ 114 ล้านหุ้น จึงมีผู้ถือหุ้นเดิมนอกเหนือจากกลุ่มจุฬางกูรเพิ่มทุนเกินสุทธิ 81 ล้านหุ้น คาดว่ากลุ่มจุฬางกูร ถือหุ้นใหญ่ 28.93% หลังเพิ่มทุน โดยมีหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด 625 ล้านหุ้น ราคาเสนอขายหุ้นละ 2.40 บาท

สำหรับกลุ่มจุฬางกูร ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ NOK เบื้องต้นยังไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัท สายการบินนกแอร์ฯ แต่คิดว่ากลุ่มนี้ยินดีเข้าไปช่วย

“กลุ่มจุฬางกูร ไม่ได้มองว่า การถือหุ้นใหญ่นกแอร์จะเข้าไปต่อยอดธุรกิจของกลุ่มนี้ที่ทำเบาะรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ จากการลงทุน กองนี้ไม่ได้มองว่าการถือหุ้นใหญ่ต้องเข้าไปบริหารเป็นเพียงการลงทุนที่คิดว่าเข้าไปช่วยได้ก็ช่วย ตามช่วงเวลาของแต่ละบริษัทเท่าที่ทำได้ ปัจจุบันกลุ่มจุฬางกูร มีนางนลินี งามเศรษฐมาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบล.ไอร่าฯ เป็นตัวแทนกลุ่มนี้เข้าไปเป็นกรรมการในนกแอร์ ช่วยดูแลด้านการเงินให้กับนกแอร์อยู่แล้ว ซึ่งนางนลินี อดีตเคยทำงานการบินไทยมาแล้ว 3 ปี” แหล่งข่าวกล่าว