‘สาทิส ตัตวธร’ผู้นำเพชรสยามสู่พลาสติกครบวงจร

30 พ.ค. 2560 | 02:00 น.
สาทิส ตัดวธร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สาลี่ อุตสาหกรรม ( SALEE ) หรือ “เฮียสา” ผู้กว้างขวางในอุตสาหกรรมผลิตแม่พิมพ์ ฉีด และขึ้นรูปพลาสติก รวมทั้งงานพิมพ์ฉลากสินค้าคุณภาพสูง ผ่านบริษัทย่อยสาลี่ พริ้นท์ตี้ง ( SLP ) ยังไม่นับอุตสาหกรรมผลิตและขายเม็ดพลาสติกมาสเตอร์แบตซ์ เม็ดพลาสติกคอมพาวด์ และสีผสมพลาสติกชนิดผง ที่ SALEE เข้าร่วมหุ้น 8.11 % ในบริษัท สาลี่ คัลเลอร์ ( COLOR )

“เฮียสา “ เด็กอำนวยศิลป์ รุ่นหญ้าแพรก จบจากศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่เดินเข้าสู่การเป็นเซลขายเม็ดพลาสติก และเคมีในบริษัท วี ไอ วี อินเตอร์เคม ตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งครึ่งหนึ่งของชีวิตการเป็นเซล 24 ปี หรือเกือบ 20 ปีที่อยู่กับ วี ไอ วี การเป็นเซล ทำให้เฮียสา เข้านอก-ออกใน คลุกคลีกับบริษัท มินิแบ ลูกค้ารายใหญ่ของ วี ไอ วี ให้เซอร์วิส สู้ตายขายทุกอย่างกับมินิแบร์ ในที่สุดความใจสปอร์ตของเถ้าแก่ ที่ให้โอกาสเฮียสา ออกมาตั้งบริษัทรับฉีดพลาสติก แป้นคีบอร์ดให้กับมินิแบร์ แล้วเถ้าแก่ใจสปอร์ตผู้นี้ รวมถึงเพื่อน ๆ ใน วี ไอ วี ยังเข้ามาช่วยถือหุ้น และตั้งชื่อว่าบริษัท สาลี่ อุตสาหกรรม (ที่มาจากชื่อสาทิส ) ซึ่งชื่อ สาลี่ จำและเรียกง่าย เพราะเป็นขนมมงคล และชื่อผลไม้
เมื่อ เฮียสา บริหารสาลี่อุตสาหกรรม จนอิ่มตัว จึงพาสาลี่ เข้าสู่อุตสาหกรรมงานฉีดพลาสติดครบวงจร เป็นการก้าวข้ามสู่ผู้ผลิตพลาสติกของใช้ในชีวิตประจำวันที่ทุกบ้านต้องมี ถือเป็นงานหมู ๆ สำหรับเฮียสา และธุรกิจในกลุ่มสาลี่

ย่างก้าวสำคัญของกลุ่มสาลี่ ขณะนี้ เฮียสา โฟกัสไปที่ บริษัท เพชรสยาม (ประเทศไทย ) ผลิตและขายพลาสติกของใช้ในครัวเรือน ซึ่งสาลี่ ฯ เข้าไปลงทุนถือหุ้น 75.5 % ในบริษัทนี้ พ่วงด้วยบริษัท บงกชฯ ผู้ผลิตชุดสังฆภัณฑ์ เข้ามาอีกบริษัทหนึ่ง

ศักยภาพการผลิตและจำหน่ายพลาสติกของใช้ในครัวเรือน ของเพชรสยาม ที่เฮียสา มุ่งมั่นปั้นอีกบริษัท จากสรรพกำลังที่มี มีลูกชายคนเดียว “สิรภัทร ตัดวธร” เข้ามาช่วยบริหารงานในตำแหน่งผู้จัดการ เปิดตลาดใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้าไปปรับกระบวนการผลิตให้ทันสมัย และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยมองเห็นโอกาสของการเติบโตในธุรกิจนี้ ซึ่งนอกจาก เพชรสยาม จะเป็นผู้ส่งหลักของโมเดิร์นเทรด บิ๊กซี โลตัส แมคโคร โดยเฉพาะบิ๊กซี ซึ่งเป็นตลาดหลัก 70 % ของยอดขาย ยังมีตลาดส่งออกในประเทศออสเตรเลีย ยูเครน มีอัตราการเติบโตสูงกว่าปริมาณสินค้าที่ผลิตส่งออกไปไม่ทันความต้องการในขณะนี้ ซึ่งส่งออกไปได้เพียง 3-5 % ของรายได้เท่านั้น จากเป้าหมายที่ต้องการส่งออก 10 %

เฮียสา เล่าว่า การทุ่มเทให้กับธุรกิจพลาสติกของใช้ในครัวเรือน เป็นตัวขับเคลื่อนให้กลุ่มสาลี่อุตสหกรรม เพราะปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี อีเลคโทรนิค เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ มีผลกระทบกับการฉีดและขึ้นรูปพลาสติก รายได้ไม่บูมเหมือนอดีต มาร์จิ้นถดถอย ซึ่งที่ผ่านมา 20 ปีก่อนการฉีดและขึ้นรูปพลาสติกรถยนต์ คอมพิวเตอร์ ประเภทคีบอร์ด ผู้ผลิตน้อย ขายได้ราคาดี แต่ปัจจุบันมาร์จิ้นต่ำมาก ซึ่งการซื้อบริษัทเพชรสยาม จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะออกจากอุตสาหกรรมเดิม ๆ

“ อุตสาหกรรมเดิม ๆ อย่างออโตโมทีฟ อีเลคโทรนิค เมื่อ 7-8 ปีก่อน เวลาส่งงานต้องแถมเงินเลียทีเดียว แต่โชคดีที่สาลี่ ฯ มีขบวนการจัดการ เลือกลูกค้าเฉพาะที่ทำแล้วมีกำไร เป็นรายธุรกิจ ออโตโมทีฟ อิเลคโทรนิค เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนในเพชรสยาม เป็นการต่อยอด และตัวขับเคลื่อนให้กับสาลี่ อุตสหากรรม เช่นงานบางตัวของเพชรสยาม ก็ให้สาลี่ ฉีดพลาสติก ผมจะทำให้กลุ่มสาลี่ ฯ และเพชรสยาม เป็นห่วงโซ่พลาสติกครบวงจรให้ได้ภายใน 3 ปี ก่อนที่เพชรสยาม จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในอีก 3-4 ปีข้างหน้านี้”

เมื่อเป้าหมายของเฮียสา แน่วแน่แล้ว ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิต คุณภาพสินค้า การจัดระบบการจัดการ จึงเริ่มต้นทันที เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ยอดขายของเพชรสยาม รวมกับยอดขายเครื่องสังฆภัณฑ์ของบงกช จะเป็นแรงส่งรายได้ที่ดีให้กับ SALEE ที่ปีนี้น่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 750 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น อนาคต การเป็น “เพชรสยาม” พลาสติกครบวงจร นั่นหมายความว่า การเป็นผู้รับซื้อพลาสติกรีไซเคิล กลับมาผลิตใหม่ มีต้นทุนต่ำ การนำผลิตภัณฑ์ที่แตกหักกลับมารีไซเคิลใหม่ ยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์เกิดการสูญเสียน้อยอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560