สกรศ.ตั้งเป้าดึงลงทุนในอีอีซีปีนี้ 1.5 แสนล้านบาท

26 พ.ค. 2560 | 10:21 น.
สกรศ.มั่นใจ ดึงนักลงทุนเข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซีปีนี้ได้ 1.5 แสนล้านบาท หลังรัฐส่งสัญญาณพัฒนาต่อยอดชัดเจน พร้อมเดินหน้าพัฒนา 3 ท่าเรือหลัก ทั้ง แหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ ทยอยเปิดให้บริการได้เร็วสุดปี 2565

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่า เป็นการรายงานความก้าวหน้าต่อที่ประชุมถึงการพัฒนาในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะระบบรถไฟรางคู่ที่สามารถเชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการรายงานความก้าวหน้าในเรื่องของการลงทุนที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ จะเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของการลงทุน ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังรับทราบถึงการเตรียมลงพื้นที่ของอีอีซี เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ทั้งในส่วนประชาชน NGO และสื่อมวลชนในพื้นที่ โดยคาดว่าจะเริ่มลงพื้นที่ในสัปดาห์หน้า และในวันที่ 16 มิถุนายน 2560 จะเรียนเชิญพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นประธานการประชุมที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว

นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาใน 3 ท่าเรือหลัก คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือสัตหีบ ระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2561 และจะสามารถทยอยเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้คือประมาณปี 2566 หรืออย่างเร็วที่สุดก็คือปี 2565

ส่วนในเรื่องของการจัดเตรียมพื้นที่ให้กับ SMEs ในพื้นที่ของอีอีซี นั้น ประการแรกทางกนอ.ได้มีการจัดโซนเป็น SMEs แล้ว โดยมีการร่วมมือกับผู้พัฒนานิคมให้มีการจัดเตรียมพื้นที่ดังกล่าว ประการที่ 2 สำหรับกลุ่มที่เราเรียกว่า Start Up ได้รับนโยบายไปแล้วว่าจะจัดพื้นที่ EEC for SMEs โดยจะนำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังก่อน ใช้พื้นที่อีอีซี ประมาณ 400 ตารางเมตร ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท โดยตั้งเป้าว่าสามารถเปิดได้ประมาณกลางเดือนมิถุนายนนี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนทั้งในด้านของการให้ความรู้ และเครื่องมือต่างๆ

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นักลงทุนมีความสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีสัญญาณที่ชัดเจนจากทางรัฐบาลในการพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น โดยในช่วงปี 2558-2559 มีนักลงทุนสนใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านโครงการต่างๆในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมแล้ว 2.87 แสนล้านบาท คิดเป็น 36% ของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และเป็นอุตสาหกรรมที่ยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลประมาณ 197 แสนล้านบาท และ 70% เป็นการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นในทุกด้านในพื้นที่อีอีซีทั้งในเรื่องของท่าเรือ ท่าอากาศยาน รถไฟรางคู่ ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกปี 2560 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าเมื่อแผนการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานมีความชัดเจน และ พ.ร.บ.อีอีซี ประกาศใช้ จำนวนนักลงทุนเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นโดยปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีการยื่นขอรับส่งเสริมฯในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี 1.5 แสนล้านบาท.