โฮมช็อปปิ้ง1.2หมื่นล้านโตฉุดไม่อยู่

30 พ.ค. 2560 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สมาคมโฮมช็อปปิ้ง ยันกรณีกระทะโคเรีย คิง ไม่กระทบธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง มั่นใจตลาด 1.2 หมื่นล้าน ยังเติบโต 5-10% ชี้ 6 บริษัทอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมกว่า 10 ฉบับ

นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ในฐานะนายกสมาคมทีวีโฮมช็อปปิ้ง (ประเทศไทย) หรือ THA เปิดเผยว่า หลังจากเกิดกระแสสังคมที่ผู้บริโภคสงสัยต่อราคาและคุณภาพของกระทะโคเรียคิงนั้น ยืนยันว่าไม่ได้ส่งผลกกระทบต่อการจัดจำหน่ายกระทะผ่านช่องทางโฮมช็อปปิ้ง ที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ภายใต้สมาคม 6 บริษัท แต่อย่างใด เนื่องจากผู้บริโภคเขาใจดีว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลในอนาคต ในเรื่องของการดำเนินธุรกิจที่จะต้องใส่ใจมากขึ้น สำหรับการตั้งราคาสินค้า ที่จะต้องมีความชัดเจน มีราคาที่อ้างอิงได้ ทำให้ภาครัฐควบคุมธุรกิจที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจ หากสามารถแก้ไขปัญหาและผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวไปได้จะช่วยยกระดับการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยปีที่ผ่านมาตลาดโฮมช็อปปิ้งมีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท 6 บริษัทในสมาคมมียอดขายรวม 8,000 ล้านบาท เชื่อว่าปีนี้ตลาดยังเติบโตได้ต่อเนื่อง 5-10%

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจของโฮมช็อปปิ้งนั้น ถือว่าอยู่ภายใต้กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่มีบังคับใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วย อาทิ 1.พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 2.พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2550 3.พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.25514. พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2556 5.พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 6.พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 7.พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 8.พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 9.พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย 10. พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และ 11. มาตรฐานด้านจริยธรรมของสมาชิกสมาคม

ด้านนายองอาจ ประภากมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง ช่องทรู ช็อปปิ้ง กล่าวว่า แนวทางการกำหนดราคาสินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางโฮมช็อปปิ้ง ซัพพลายเออร์จะเป็นกำหนดราคาขาย ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่เป็นกระแสสังคม ทางบริษัทได้พูดคุยกับซัพพลายเออร์ทุกราย เพื่อให้มีเอกสารอ้างอิงที่มาของราคาสินค้า เพื่อเป็นแนวทางการจำหน่ายสินค้าและความสบายใจของผู้บริโภค ส่วนสินค้ากระทะที่มีการตั้งราคาสูงและลดราคาลงมา และจำหน่ายผ่านเว็บไซต์นั้น เป็นสินค้าที่ยังเหลือค้างสต็อก ไม่ได้จำหน่ายผ่านทีวีช็อปปิ้งแล้ว และหลังจากเกิดเหตุการณ์ได้นำสินค้าดังกล่าวออกจากเว็บไซต์แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560