47 จังหวัด เสี่ยง! น้ำท่วมขัง 2.88 ล้านไร่

26 พ.ค. 2560 | 06:49 น.
กระทรวงเกษตรฯ เปิดพื้นที่เสี่ยง 47 จังหวัดนํ้าท่วมขังรับฤดูฝนปี 60 รวมกว่า 2.88 ล้านไร่ ภาคเหนือ-กลางกระทบมากสุด อธิบดีกรมอุตุฯ ส่งซิกพายุโซนร้อนเข้าไทย 2 ลูก ช่วง ส.ค.-ก.ย.คาดส่งผลดีช่วยเติมนํ้าเขื่อน ด้าน สศก.สรุปภัยแล้งปี 59 ภาคเกษตรเสียหาย  2 พันล้าน 29 โครงการรัฐช่วยได้ 1.4 ล้านราย

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วอย่างเป็นทางการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งกำหนดแนวทางการบริหารจัดการนํ้าฤดูฝน (พ.ค.-ต.ค.60) เพื่อให้ปริมาณนํ้าต้นทุนในอ่างเก็บนํ้ามีเพียงพอสำหรับใช้นํ้าตลอดฤดูฝนและเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2561 (พ.ย. 60-เม.ย. 61) ต่อไปนั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลของกลุ่มป้องกันภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ได้คาดการณ์พื้นที่เกษตรที่มีโอกาสและความเสี่ยงเกิดนํ้าท่วมขังในฤดูฝนปี 2560 มี  47 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่รวม 2.88 ล้านไร่ จากปี 2559 มีจำนวน 51 จังหวัด พื้นที่รวม 1.94 ล้านไร่ โดยปีนี้แบ่งเป็นภาคเหนือมีโอกาสเกิดนํ้าท่วมขัง 11 จังหวัด รวม 1.07 ล้านไร่  อาทิ เชียงใหม่ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เป็นต้น ส่วนภาคกลางมี 11 จังหวัด รวม 1.01 ล้านไร่ อาทิ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี เป็นต้น

ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี  ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี คิดเป็นพื้นที่ 0.09 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด อาทิ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมาฯลฯ พื้นที่รวมประมาณ 0.32 ล้านไร่ และภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี รวมประมาณ 0.34 ล้านไร่

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ น้ำท่วม

“อย่างไรก็ตามการคาดการณ์เพื่อใช้วางแผนเตรียมการรับมือ ข้อมูลอาจมีการคาดเคลื่อนได้ขึ้นอยู่กับความแปรปรวนของสภาพอากาศและสถานการณ์ปรากฎการณ์เอลนิโญและลานิญา ซึ่งจะต้องมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าปริมาณฝนจะใกล้เคียงกับปี 2542 โดยปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย 5% สำหรับช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมปริมาณฝนจะมีน้อยอาจทำให้เกิดการขาดแคลนนํ้าด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน 

ส่วนเดือนสิงหาคมถึงกันยายน คาดจะมีพายุหมุนเขตร้อน (ดีเปรสชั่น โซนร้อนและไต้ฝุ่น) เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 2 ลูก มีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ มองว่าเป็นผลดีจะช่วยเติมนํ้าในเขื่อนจากปัจจุบันระดับนํ้าในเขื่อนค่อนข้างตํ่า (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ค. 60 นํ้าในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 34 แห่งทั่วประเทศมีปริมาณนํ้ารวม 4.04 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉลี่ยมีนํ้ากักเก็บ 54% ของความจุ) แต่จะมีผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มตํ่าที่อาจจะเกิดปัญหานํ้าท่วมขังได้

ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สรุปภัยแล้งปี 2559  (ข้อมูล ณ 22 พ.ค.60)  ว่า มีพื้นที่เกษตรเสียหาย 4.1 แสนไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 4.5 หมื่นราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ที่พื้นที่เสียหาย 2.8 ล้านไร่ มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ผลจากรัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าถึงสถานการณ์นํ้าที่มีอยู่
อย่างจำกัด

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ รายงานผลการดำเนินงานภายใต้แผนการเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรปี 2559/60 (ข้อมูล ณ 15 พ.ค. 60) ใน 6 มาตรการรวม 29 โครงการ งบประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้กว่า 1.4 ล้านราย อาทิ โครงการส่งเสริมความรู้เกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าช่วงฤดูแล้ง มีเกษตรกรเข้าร่วม 8.77 หมื่นราย ใน 77 จังหวัด เป็นต้น