‘ขยายรู้ตเรือเฟอร์รี่ เชื่อมอ่าวไทยเป็นใยแมงมุม’

30 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
กว่า 4 เดือนของการเปิดให้บริการเดินเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยเส้นทางพัทยา-หัวหิน อย่างเป็นทางการของบริษัท รอยัล พาสเสนเจอร์ไลเนอร์ จำกัด ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานเส้นทางเดินเรือดังกล่าวที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากผู้โดยสาร บริษัทจึงเริ่มวางแผนในการนำเรือเฟอร์รี่มาให้บริการเพิ่มขึ้น รวมถึงเล็งเปิดเส้นทางใหม่เชื่อมอ่าวไทย อ่านได้จากสัมภาษณ์นายปรีชาตันติปุระ ประธานบริษัท รอยัลพาสเสนเจอร์ ไลเนอร์ จำกัด

++ลูกค้าหลักหมื่นคนต่อเดือน
เส้นทางเดินเรือเชื่อมพัทยา-หัวหิน ที่บริษัทได้รับสัมปทาน หลังเราได้เริ่มทดลองเดินเรือในเส้นทางนี้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2560 จำนวน 1 เที่ยวเดินเรือต่อเที่ยว(ไป-กลับ 2 เที่ยว) ด้วยเรือที่ชื่อ รอยัล 1 เป็นเรือแบบคันตามารัน แบบไฮสปรีด ขนาด 346 ที่นั่ง เป็นชั้นประหยัด 286 ที่นั่ง ชั้นธุรกิจ 44 ที่นั่ง และห้องวีไอพี 2 ห้อง เริ่มเปิดขายตั๋ว วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งนับจากวันเปิดขายตั๋ว จนถึงปัจจุบัน ถือว่ามีการตอบรับของผู้โดยสารเป็นไปในทิศทางที่เติบโตขึ้น ขณะนี้ราคาตั๋วโดยสารจะอยู่ที่ 1,250 บาทต่อเที่ยว

ในช่วงที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารหลายหมื่นคนต่อเดือน ซึ่งกว่า 60% จะเป็นนักท่องเที่ยวยุโรป ส่วนคนไทย ราว 30% และคนเอเชีย ราว 10% โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเอง (เอฟไอที)รวมถึงผ่านบริษัทนำเที่ยวต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ส่วนกลุ่มคนไทยที่มาใช้บริการ ส่วนมากจะเป็นคนที่ต้องไปทำธุระข้ามพื้นที่ เช่น เซลล์ ซึ่งการใช้บริการเรือเฟอร์รี่ จะประหยัดเวลาในการเดินทางได้มากกว่า เพราะใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมงเท่านั้นทำให้ทำธุระได้มากขึ้น ไม่เสียเวลาค้างคืน ต่างจากการขับรถที่จะใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง

++ทยอยนำเรือใหม่อีก 6 ลำ
นอกจากนี้เรายังมีแผนทยอยนำเรือเข้ามาให้บริการต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสภาพ และทยอยนำเข้าไทยมาแล้ว4 ลำ อยู่ระหว่างขั้นตอนการจดทะเบียนไทย ได้แก่ เรือรอยัล 2, รอยัล 3 ,รอยัล 4 สำหรับให้บริการผู้โดยสาร จุได้ราว 340-350 ที่นั่ง และยังต้องมีเรือเล็กกว่า คือ เรือ รอยัล มาสเตอร์ อีก 2 ลำ จุได้ราว 150-262 ที่นั่งเพื่อมาเป็นเรือสำรอง แบบเคลื่อนที่เร็ว สำหรับขนถ่ายผู้โดยสารเผื่อเอาไว้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งมาช่วยเสริมบริการช่วงไฮซีซันได้ด้วย ดังนั้นเบ็ดเสร็จปีนี้เราน่าจะมีกองเรือทั้งหมดราว 6 ลำ ทั้งนี้เรือที่นำมาให้บริการ จะเป็นเรือที่ต่อมาจาก 2 ประเทศคือ นอร์เวย์ และออสเตรเลีย

การจะนำเรือลำใหม่เข้ามาให้บริการเพิ่มในแต่ละช่วงเวลาจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยพิจารณาตามความต้องการของผู้โดยสาร ซึ่งบริษัทเรามีนโยบายเกาะติดกับการสำรวจตลาด การเติบโตของลูกค้า จึงต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้บริษัทเตรียมจะเพิ่มเที่ยวเดินเรือพัทยา-หัวหินขึ้น 2 เที่ยวเดินเรือต่อเที่ยวไป-กลับเป็น 4 เที่ยว

++ดึง 200 ทัวร์ขายแพ็คเกจ
อีกทั้งขณะนี้บริษัทยังจะเน้นขยายฐานลูกค้า กลุ่มบริษัททัวร์ต่างๆเพิ่มขึ้น โดยเข้าไปจัดสัมมนากับบริษัทนำเที่ยว เพื่อแนะนำการจัดแพ็กเกจทัวร์ใหม่ๆขายแก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้เชื่อมโยงกับตารางการเดินเรือของเรา

เช่นออกจากกรุงเทพ แต่เช้า นำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา เที่ยวเขาวัง เพชรบุรี มาถ่ายรูปกับสถานีรถไฟหัวหิน เย็นไปตลาดหัวหิน ค้าง 1 คืนที่หัวหิน รุ่งขึ้นไปเที่ยวอุทยานราชภัฏ จากนั้นมาขึ้นเรือที่ท่าเรือเขาตะเกียบ เพื่อต่อไปยังพัทยา เที่ยวพัทยา 2 คืน ก็นำนักท่องเที่ยวเดินทางกลับที่สนามบินสุวรรณภูมิต่อได้ หรือจะเป็นโปรแกรมที่เริ่มจากกรุงเทพมาเที่ยวพัทยา ค้าง 2-3 คืน จากท่าเรือแหลมบาลีฮาย นั่งเฟอร์รี่ไปเขาตะเกียบ เข้าหัวหิน ค้าง 1-2 คืน มาเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา แล้วกลับขึ้นกรุงเทพฯ เป็นต้น

แพ็คเกจที่พัฒนาขึ้น ก็จะทำให้บริษัททัวร์มีโปรแกรมๆใหม่ในการขาย และยังทำให้เกิดการใช้เวลาในการเดินทางท่องเที่ยวที่มากขึ้นเป็น 5-6 วันขณะเดียวกันก็จะมีผู้โดยสารใช้บริการเรือเฟอร์รี่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเราไปไอเดียนี้แก่บริษํททัวร์อินบาวด์กว่า 200 บริษัทแล้ว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี ขณะนี้เราโฟกัสที่บริษัททัวร์เป็นหลัก เพราะมีลูกค้าทันที ส่วนตลาดเอฟไอที จะเน้นการโปรโมตผ่านเว็บไซต์ และการโปร

โมตของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เพราะการให้บริการเดินเรือในเส้นทางนี้ จัดว่าเป็นจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของไทย

++ เล็งเปิดเดินเรืออีกหลายเส้น
ไม่เพียงแต่เส้นทางเดินเรือเชื่อมพัทยา-หัวหินเท่านั้น ในขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของตลาด ในหลายเส้นทาง เพื่อเตรียมการสำหรับการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ โดยขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องจำนวนเที่ยวของสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งหากมีเที่ยวบินมาก ก็มองว่าอยากเปิดเส้นทางจากท่าเรือจุกเสม็ด(สัตหีบ) ไปหัวหิน หรือ ท่าเรือจุกเสม็ดไปเกาะช้าง รวมไปถึงเส้นทางบางปูไปหัวหิน หรือบางปู-พัทยา เนื่องจากบริเวณบางปู มีท่าเรือและมีการพัฒนารถไฟฟ้าบีทีเอส

อีกเส้นทางมองไว้คือ เส้นทางพัทยา ไปยังท่าเรือปากน้ำปราณ ซึ่ง มองว่าจะเป็นเรือเฟอร์รี่ ที่ให้บริการผู้โดยสาร รวมถึงรถยนต์ โดยต้องรอเรื่องของการพัฒนาท่าเทียบเรือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ เพราะเราเห็นโอกาส และการนำเรือเฟอร์รี่แบบไฮสปรีด มาให้บริการ โดยต้องสามารถใช้เวลาในการเดินเรือไม่เกิน 2 ชั่วโมง ไม่ใช่ 5-6 ชั่วโมงเส้นทางนี้จึงจะสามารถขายได้ ซึ่งผมก็มองเรือลำที่เหมาะสมไว้แล้ว และได้เตรียมการเรื่องของการออกแบบไว้แล้ว เพราะต้องใช้เวลาต่อเรือถึง 1 ปีล่วงหน้า

ผมมองเป้าหมายการเดินเรือของเราว่าต้องการถักทออ่าวไทย ให้เกิดเส้นทางเดือนเรือเฟอร์รี่ เป็นใยแมงมุม และเห็นโอกาสที่จะทำได้ แต่คงต้องใช้เวลาในการพัฒนารวมถึงสร้างตลาดให้เติบโตได้ ดังนั้น

ในแต่ละเส้นทางที่ภาครัฐเปิดสัมปทานการเดินเรือ จึงต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในการเดินเรือ อย่างเส้นทางพัทยา-หัวหิน เราก็รับสิทธิสัมปทาน 10 ปี

ทั้งผมยังเชื่อว่าการเดินเรือในเส้นทางเหล่านี้ การจะทำให้ประสบความสำเร็จต้องใช้เวลา ยังไง 1-2 ปีแรกก็ไม่คุ้มอยู่แล้ว ถ้าทำเพื่อหวังรวยมันไม่ใช่ เพราะมีการลงทุนอื่นได้กำไรเร็วกว่ามากไม่งั้นโครงการเดินเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวไทยคงเกิดมานาน แต่ที่ผมมาลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นมาจากผมมีความรู้เรื่องเรือดี เพราะจบมาด้านนี้ และผมเป็นจีนที่มาอยู่ในไทย ทำงานในไทยและได้สัญชาติไทย จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ไม่ได้หวังทำแล้วรวย แต่ขอให้คุ้มทุนและมีกำไรอยู่รอดได้เท่านั้น” ซีอีโอปรีชา กล่าวปิดท้ายบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560