‘JD.com’ ส่งโดรนสู่ชนบทจีน

28 พ.ค. 2560 | 13:00 น.
เนื่องจากการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซในจีนได้รับความนิยมมาก ทำให้ต้องมีการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลของจีน ถนนหนทางยังพัฒนาไม่ดีพอ ทำให้การส่งสินค้าทางอากาศดึงดูดมากกว่า

เจดี ดอต คอม (JD.com) บริษัทค้าปลีกออนไลน์อันดับ 2 ของจีน รองจากบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (Alibaba Group Holding) กำลังเร่งพัฒนาอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน (Drone) ที่สามารถบรรทุกน้ำหนักสิ่งของได้มากถึง 1 ตันหรือมากกว่านั้น เพื่อให้บริการขนส่งสินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์เข้าไปยังพื้นที่ห่างไกลของจีน ที่มณฑลส่านซี ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และบริษัทเจดี คาดว่า การบินกลับของโดรน ก็จะช่วยขนส่งผลิตผลทางการเกษตรของเกษตรกรเข้ามาขายในเมืองได้อีกด้วย

ในปีที่ผ่านมา บริษัทเจดีได้เริ่มส่งสินค้าด้วยโดรน เพื่อช่วยในการประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้า ซึ่งขณะนี้ได้รับใบอนุญาตใช้โดรนขนส่งแล้วกว่า 30 เส้นทางบินในหลายพื้นที่ ได้แก่ กรุงปักกิ่ง มณฑลเจียงซู ใกล้กับนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเสฉวน มณฑลส่านซี และมณฑลกุ้ยโจว โดยขณะนั้นโดรนของบริษัทสามารถขนส่งน้ำหนักได้มากที่สุด 15 กิโลกรัม และเดินทางได้ไกลสุด 10 กิโลเมตรต่อ 1 เที่ยว ทำให้บริษัทเจดีมีลูกค้าใช้บริการมากกว่า 230 ล้านคน ทั้งนี้ ทางบริษัทบอกว่ามีเป้าหมายสร้างโดรนยักษ์ จุสินค้าได้ 1 ตัน จำนวน 150 เครื่อง ภายใน 3 ปีต่อจากนี้ พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาโดรนขึ้นในมณฑลส่านซีด้วย

มีบริษัทอี-คอมเมิร์ซหลายแห่งทั่วโลกได้เริ่มทดสอบการใช้โดรนส่งสินค้า เช่น เมื่อปลายปี 2559 อเมซอน (Amazon) อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ทดลองส่งสินค้าด้วยอเมซอน ไพรม์ แอร์ (Amazon Prime Air) ให้กับลูกค้าเป็นครั้งแรกในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ แต่ตัวโดรนนั้นสามารถบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 5 ปอนด์ ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที เช่นเดียวกับยูพีเอส พาร์เซล เซอร์วิส (United Parcel Service: UPS) บริษัทขนส่งพัสดุของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ทดสอบการใช้โดรนในการส่งพัสดุให้ลูกค้า ขณะที่ล่าสุดแอร์บัส เอสอี (Airbus SE) บริษัทผลิตเครื่องบินชั้นนำของโลกมีแผนขายโดรนในสหรัฐฯ เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ตรวจสอบพืชผลทางการเกษตรและเสาโทรศัพท์มือถือ

สำหรับการใช้โดรนในประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่อย่างจีน ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการขยายช่องทางการจัดส่งสินค้าไปยังเขตพื้นที่ห่างไกล ขณะที่ในหลายประเทศ การใช้โดรนได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดทางการบิน ต้องมีการขออนุญาต รวมถึงต้องสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ อย่างเช่นในสหรัฐฯ โดรนเพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์จะบินได้เฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินเท่านั้น

ในส่วนการขนส่งสินค้าโดยโดรนของบริษัท เจดี หลังจากบรรจุสินค้าแล้ว สินค้าจะถูกส่งผ่านโดรนจากจุดขนส่งสินค้าของบริษัทไปยังศูนย์กระจายสินค้าย่อยในชนบท ตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ส่วนการบรรจุสินค้า การบิน การลงจอดและการบินกลับจะใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560