ปีที่ 4 คสช. ‘ขอความชัดเจนปรองดอง’

28 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
ในวาระครบรอบ “3 ปี รัฐประหาร” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ช่อง19 ได้จัดรายการพิเศษ “3 ปี คสช. กับอนาคตประเทศไทย” โดยเชิญ 2 ตัวแทนพรรคการเมือง 2ตัวแทนกลุ่มมวลชนการเมือง ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายวิทยา แก้วภราดัยอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นายองอาจคล้ามไพบูลย์ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และน.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตส.ส.น่าน จากพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสร้างความสามัคคีปรองดอง ปยป.ร่วมเสนอ ประเมิน และสะท้อนแนวความคิดในประเด็นต่างๆ โดยมี ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ดำเนินรายการ

- ดนัย : สู่ปีที่4 อยากเห็นอะไรกับการสร้างความปรองดองของคสช.”

- จตุพร : ต้องทำตามที่พูดตามที่ได้ประกาศ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่สำเร็จเพราะไม่มีใครทำจริง ศึกษาแล้วศึกษาอีกไม่จบไม่สิ้น ศึกษาเสร็จส่งให้ไม้สุดท้ายที่จะตัดสินใจก็เก็บใส่ลิ้นชัก

มาครั้งนี้ที่ผมเชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เพราะได้อันเชิญพระราชกระแสรับสั่งถึง 2 ครั้ง มีพระประสงค์ให้ชาติบ้านเมืองเกิดความรักความสามัคคี พรรคการเมืองกลุ่มการเมือง ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ขานรับกันหมด ถ้าไม่สำเร็จ หรือโยนไปให้รัฐบาลหน้า ผมว่าไม่ต้องจัดเลือกตั้งกันเพราะประเทศจะวนกลับมาจุดเดิมอีก

เพราะเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้นรอวิกฤตอยู่ถ้าไม่ปรองดองกันเสียก่อน สัญญาประชาคมถ้าไม่ตกผลึกของทุกฝ่าย ถ้าไม่ตกลงกันให้ได้เสียก่อน เลือกตั้งแล้วจะยังไง ผมไม่ต้องการให้ประเทศกลับมาสู่สภาพอย่างนี้

ตามกระบวนการที่บอกว่าจะจัดทำสัญญาประชาคมแล้วเสร็จมิถุนายนนี้ ประกาศสัญญาประชาคมไปแล้วใช้เวลาอีกเกือบ 1 ปีถึงจะเลือกตั้งตามโรดแมป

กติกาที่ออกแบบไว้ตามรัฐธรรมนูญจะได้นายกฯคนนอกเป็นส่วนใหญ่ นายกฯคนในเป็นส่วนน้อย แต่กติการลักลั่นอยู่ ส.ว.250 คนร่วมโหวตเลือกนายกฯ บวกกับเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร 126 เสียง ได้นายกฯแล้วแต่อยู่ไม่ได้ เพราะยกมือไม่ไว้วางใจต้องสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น เพราะฉะนั้นนายกฯคนนอกอย่างไรก็ต้องได้เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ที่สำคัญต้องทนต่อปากของส.ส.ในการอภิปรายรัฐบาล

- ดนัย : ข้อเสนอคุณจตุพรคือปรองดองกันให้ได้ คุยกันให้จบ ก่อนจัดเลือกตั้ง

- จตุพร : เมื่อนายกฯเชิญมาปรองดอง และทุกฝ่ายไม่เป็นอุปสรรคเลย ถ้าโยนการปรองดองไปให้รัฐบาลหน้า ถามว่าคสช.ทำอะไรอยู่ในวันนี้ เพราะภารกิจการยึดอำนาจคือแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง เรื่องหลักที่คสช.ประกาศต้องทำให้ได้เสียก่อน เพราะเรื่องอื่น ๆ คือเศรษฐกิจหนักกว่านี้อีก คือรอวันตายอยู่

- ดนัย : สรุปมี 3 ประเด็นคือ หนึ่งต้องปรองดองก่อนเลือกตั้ง สอง อย่างน้อยมิถุนายน 2560 ได้เห็นกติกาสัญญาปรองดอง และสามนับจากนั้น 1 ปีก่อนเลือกตั้ง ทำตามกติกานั้น

- จตุพร : คือว่ามิถุนายนนี้เห็นผลข้อตกลงปรองดองแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาอีก 1 ปีเศษก็มาเตรียมตัวกันก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นสภาพบ้านเมืองก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก

-วิทยา : เรื่องปรองดองนี่เกิดกระแสพูดกันมากเมื่อปีที่แล้วเป็นต้นมา ได้เห็นการเคลื่อนตัวของทหาร นัดกลุ่มต่าง ๆ ที่เห็นว่ามีความขัดแย้งกันมาเสนอความคิดเห็นกันเป็นระยะ เห็นกิจกรรมที่ทำร่วมกัน แต่ที่ฟังสัญญาณจากนายกฯเคยบอกว่าเรื่องปรองดองไว้พูดกันปี 2560 พอมาถึงปี 2560 โดยสถานการณ์ต่าง ๆ ก็เร่งเร้าเข้ามา คนที่อยู่ในคดีการเมืองเริ่มทะยอยติดคุกกันไป นปช.บ้าง กปปส.บ้าง พันธมิตรฯบ้าง ก็ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ต้นปีนี้เรื่องปรองดองก็กลับมาพูดกันอีก และผมก็ได้ยินสัญญาณจากนายกฯ ว่าไม่ต้องมาพูดเรื่องนิรโทษกรรม คงจำกันได้ เพราะในกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปท.มีท่านหนึ่งยกเรื่องนิรโทษกรรมมาพูดตลอด แต่นายกฯก็สวนเรื่องนี้มา

ทีนี้ถ้าไม่นิรโทษกรรม ก็อยากฟังคำตอบชัด ๆ ว่าจะเป็นอะไร ที่จริงในข้อกฎหมายก็มี ได้ปฎิบัติกันมาในอดีตกาลนานแล้ว ในกฎหมายอาญานี่แหละ ตั้งแต่สมัยปี 2518-2519 ยุครัฐบาลคึกฤทธิ์ มีการจับชาวนาที่ลำปาง มีการถอนฟ้อง ใช้อำนาจอัยการ เพราะดำเนินคดีไปไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และมาทำในคดีปฎิวัติ 2526 อะไรนี่อีกรอบหนึ่ง เคยทำมาแล้ว ภายหลังในพ.ร.บ.อัยการ ผมเชื่อว่าน่าจะเขียนถึงอำนาจตรงนี้ไว้ในการถอนฟ้อง

ผมว่ามันคืบหน้ามาแล้วตามคำพูดของนายกฯ ปี 2559 บอกไม่พูด ปี2560 ค่อยพูดกัน ปี 2560 บอกนิรโทษกรรมไม่มี สุดท้ายคือว่า จะเอาอะไร จะเอาอย่างไร จะหาทางออกสร้างความปรองดองกันอย่างไร ซึ่งต้องมีคำตอบให้สาธารณะ

การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี่ง่าย ออกเป็นพ.ร.บ.มา ออกหมด เหลือแต่พวกที่เป็นแกนนำไว้ อย่างผม อย่างคุณจตุพรเหลือไว้ คนอื่น ๆ ปล่อยหมด หรือคดีขี้หมูขี้หมาแห้งก็ล้างเสีย เรื่องปิดหน่วยเลือกตั้ง ที่มาชุมนุมกัน สามคนห้าคน ปล่อยไป

- ดนัย : คุณวิทยากำลังบอกว่าในปีที่ 4 คสช.ต้องมีแอ็คชั่นไม่ใช่แค่วิชั่นปรองดอง และแอ็คชั่นโดยไม่ต้องออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็ได้

-วิทยา : ผมบอกว่าที่ลำดับมาคือการรับปากของนายกฯ ท่านว่าเรื่องปรองดองมาพูดกันปี 2560 ถึงปี 2560 แล้วท่านว่าเรื่องนิรโทษกรรมไม่เอา เมื่อไม่เอานิรโทษกรรม เราก็มาช่วยกันคิดและเสนอไปแล้วด้วย และมีบางเรื่องหลัก ๆ ก็ผลัดผ่อนเวลาไว้ พวกผมพูดเรื่องปฏิรูปตำรวจ ตอนมาใหม่ ๆ สปท.ก็เคยเสนอในสภาว่าการโยกย้ายตำรวจไม่เป็นธรรม ซื้อตำแหน่งขายตำแหน่งกัน มีการเสนอหลายชุด โดยสรุปนายกฯบอกเรื่องปฏิรูปตำรวจเอาไว้ก่อน เพราะจำเป็นต้องใช้เขา ตอนปฏิวัติใหม่ ๆ เพราะคนยึดอำนาจทุกคนต้องใช้ตำรวจเพราะง่ายที่สุด

- องอาจ : ที่เราพูดกันไปเน้นมิติเรื่องการปรองดองทางการเมืองเป็นหลัก เรื่องปรองดองมีหลายมิติ เวลาที่คสช.ริเริ่มเชิญพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองเข้าไปคุย ได้แบ่งหัวข้อให้เสนอถึง 10-11 หัวข้อ ผมคิดว่าบางหัวข้อ เช่น เรื่องแก้ความเหลื่อมล้ำ เวลาเพียง 1-2 ปีไม่พอจะไปคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิติต่าง ๆ ได้ทั้งหมด อย่างเช่นมิติทางการเมืองอย่างที่เราได้พูดกัน แต่ก็มีวิธีการให้แต่ละฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้

ปัญหาสำคัญการจะปรองดองกันได้ ทุกฝ่ายโดยเฉพาะในมิติการเมืองก่อนนั้น จะต้องมีความเห็นพ้องต้องกัน และเห็นร่วมในสิ่งนั้น ถ้าไม่เห็นร่วมกันไม่เห็นพ้องกันแล้ว ถึงจะมีสัญญาประชาคมหรืออะไร ถึงเวลาทุกคนก็ทำอย่างที่ตนอยากทำ สัญญาก็เป็นเศษกระดาษ

หัวใจสำคัญคือ การให้ทุกฝ่ายมาเห็นพ้องต้องกัน และไม่ละทิ้งมิติอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าพอนักการเมือง ฝ่ายการเมืองสมประโยชน์กันแล้ว อันอื่นก็ทิ้งไป เรื่องปรองดองในบ้านเมืองยังมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับชาวบ้านโดยตรง เช่น ที่เขาขัดแย้งกัน มีปัญหากันถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม คนรากหญ้าประชาชนทั่วไปเขาก็อยากให้แก้ไขด้วย

- ดนัย : ต้องปรองดองก่อนเลือกตั้งไหม

- องอาจ : ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรจะจบได้ทั้งหมดในครั้งเดียว อันไหนที่กลุ่มการเมือง นักการเมือง เห็นพ้องกันว่า จะทำให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลายไปได้ เราจะไปหวังว่าจิตใจคนแต่ละคน ที่ไม่มีเครื่องมือจะไปสแกนได้ว่าเขาคิดอะไรอย่างไร จะมาบอกว่าปรองดองกันแล้วจบกันแล้วก่อนเลือกตั้ง อย่างนั้นก็พูดเกินความเป็นจริงไป

ในมิติการเมืองในปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น มันต้องมีความปรองดองเพราะว่าความขัดแย้ง อะไรที่เราเห็นว่าที่เราขัดแย้งกัน มีอะไรที่เราจะแก้ปัญหานี้ร่วมกัน จับมือกัน เพื่อที่จะเดินหน้าต่อว่า เมื่อมีเลือกตั้งแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก เพราะเราเห็นพ้องต้องกัน ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นธรรม โปร่งใส เป็นต้น ถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องกันอย่างนี้ก็เดินหน้าไปได้

- พล.อ.เอกชัย : ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าปรองดองต้องเริ่มทำตั้งแต่บัดนี้ ถึงจะช้าไปก็ต้องเริ่ม ถ้าไม่ทำเลยแล้วไปเลือกตั้ง มาแข่งขันกันใหม่ ผมเชื่อแน่ว่าความขัดแย้งครั้งต่อไปจะรุนแรงมากกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะว่าทุกฝ่ายมีประสบการณ์หมดแล้วว่า ถ้าจบแบบนี้ฉันได้แบบนี้ ดังนั้นก็ให้แรงไปเลย จบไปเลย

ขณะเดียวกันทหารเข้ามา เขาต้องเข้ามาอีก ก็คิดว่าคราวที่แล้วยังแรงไม่พอ คราวนี้ต้องแรงกว่าเดิมอีก ถึงจะจบ ไม่งั้นจะกดไม่อยู่ จึงต้องเริ่มเรื่องปรองดองกันเสียตั้งแต่วันนี้

ที่ได้ทำแล้วคือรัฐบาลเปิดพื้นที่ให้พูดคุยกัน ซึ่งก็ทำครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือเรื่องการเยียวยาและอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น เป็นอีก 2 มิติที่ต้องทำด้วย เราเคยเสนอว่าอย่าเลือกทำบางมิติต้องทำพร้อมกันไปเวลานี้ก็เลือกทำอีกแล้ว
ถามว่าวันนี้ถ้าเกิดขัดแย้งกันขึ้นมาอีก ใครจะมาแก้ปัญหาทหารเหรอ ไม่ใช่แล้ว จะต้องมีกรรมการหรือกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาแก้วิกฤติ เราถึงได้คิดและเสนอไว้ในข้อเสนอที่ 6 ว่าต้องมีกลุ่มคนขึ้นมา จะเป็น 2 ฝ่ายหรือ 3ฝ่ายก็แล้วแต่ขึ้นมา วันนี้ไม่มีตรงนี้ ในรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่มีตรงนี้ด้วย บอกแต่ว่าให้หน่วยราชการเป็นคนทำ หน่วยราชการจะแก้ปัญหาได้หรือ ไม่ได้ เพราะสุดท้ายเขาเป็นคู่ขัดแย้งอีก

จึงต้องทำควบคู่กันไป ทั้งเยียวยา ทั้งอำนวยความยุติธรรมและเปิดพื้นที่ เช่นรายการที่จัดอยู่นี้ ต้องเปิดตลอด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560