ประมงเถื่อน3พันลำงานเข้า เจ้าท่าบี้โชว์หลักฐานเร่ขายให้กัมพูชา-เมียนมาราคาถูก

28 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
เรือประมงเถื่อนงานเข้า หลังไทยเข้มไอยูยูฟิชชิ่งกลุ่ม 3 พันที่ไม่มีอาชญาบัตร/อาชญาบัตรผิดประเภท เร่ขายให้กัมพูชา-เมียนมาราคาถูก เผยความแตกหลังกรมเจ้าท่าบี้โชว์หลักฐานการซื้อขาย ด้านกฎหมายสิ่งปลูกสร้างล่วงลํ้าลำนํ้าถูกท้าทาย ผวาแสนครัวเรือนใน 60 จังหวัดฮือต้าน แนะนิรโทษกรรมก่อน

เรือประมงพาณิชย์ยังวุ่นไม่จบ หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2560 (วันที่ 4 เม.ย.60) สั่งการให้กรมเจ้าท่า ร่วมกับกรมประมง และ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ไปดำเนินการให้ผู้ประกอบการนำเรือประมงพาณิชย์เป้าหมาย 1.2 หมื่นลำ ที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป มาตรวจและวัดขนาดเพื่อทำอัตลักษณ์เรือทั้งหมดใหม่ภายใน 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจากกรมเจ้าท่า(จท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันมีเรือที่ยังไม่มาวัดขนาดใหม่ประมาณ 200 ลำ โดยแบ่งเป็นเรือกว่า 100 ลำ ได้แจ้งความไว้กับสถานีตำรวจ ส่วนที่เหลือไม่ทราบสาเหตุ กลุ่มนี้จะไม่สามารถออกไปทำการประมงได้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีเรือประมงทะเบียนพื้นบ้านแต่มีขนาด 10 ตันกรอสจะขอวัดขนาดด้วย ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งไว้ว่าให้เสร็จจากประมงพาณิชย์ก่อน ซึ่งกลุ่มนี้ก็ออกไปทำะประมงไม่ได้เช่นกัน ส่วนกลุ่มที่ 3 คือเรือที่ไม่มีอาชญาบัตร/อาชญาบัตรผิดประเภทใน 4 เครื่องมือที่กรมประมงควบคุมและได้ยกเลิกไปแล้วเมื่อปี 2539)เคยใช้ตัวเลขที่ 3,000 ลำ เรือกลุ่มนี้ไม่เคยมารายงานตัวเลย ดังนั้นหากมีการซื้อขายเรือไปแล้วจะต้องนำหลักฐานมาแสดง หรือถ้ามีการจมเรือก็ต้องมีรูปถ่าย แต่หากไปพบเรือดังกล่าวนี้ลักลอบออกไปทำการประมงให้จับได้ ถือว่าผู้ประกอบการมีความผิดแจ้งเท็จ จะถูกลงโทษทั้งแพ่งและอาญา

ขณะที่แหล่งข่าววงการค้าเรือ เผยว่า ในช่วง 2 ปีกว่าที่ไทยมีมาตรการจัดระเบียบเรือประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย และตามระเบียบของทางสหภาพยุโรป (มาตรการไอยูยู) ทางผู้ประกอบการเรือประมงของกัมพูชา และเมียนมา ได้สบโอกาสเข้ามาซื้อเรือที่อยู่ในกลุ่ม 3,000 ลำข้างต้นในราคาถูก จากเห็นว่าเรือออกไปทำประมงไม่ได้ และภาครัฐของไทยก็ไม่มีทีท่าว่าจะซื้อเรือคืน อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งรัฐบาลทั้ง2 ประเทศก็มีมาตรการห้ามเพิ่มจำนวนเรือประมงเช่นกัน ดังนั้นจึงวุ่นวายกันไปหมดทั้งไทยและเพื่อนบ้าน

ด้านนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวถึง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติก็ถือละเว้นหน้าที่ ส่วนเจ้าของหรือผู้ครอบครอบสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ให้แจ้งภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 หากรุกล้ำจริงอาจจะโดนปรับโทษตามกฎหมายเก่า แต่หากไม่แจ้งแล้วกรมไปพบภายหลังจะมีโทษตามกฎหมายใหม่ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับคำนวณเป็นตารางเมตรของพื้นที่ที่ล่วงล้ำลำน้ำ ในอัตราตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

"ยืนยันว่าไม่ได้รับปากหรือสัญญากับใครว่าจะมีการผ่อนปรนกฎหมายนี้ออกไปอีก 1 ปี รวมถึงค่าปรับด้วย "

ขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้มีผู้ได้รับผลกระทบร่วมกว่าแสนครัวเรือนในกว่า60 จังหวัด เสนอให้รัฐบาลแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่กรมเจ้าท่าเคยอนุญาตให้สร้างบ้านเรือนก่อนปี 2537 อนุญาตให้อยู่ห้ามโอนขาย แล้วห้ามสร้างใหม่ 2.กลุ่มสร้างบ้านเรือนหลังปี 2537 ยกให้รัฐบาลแล้วขอเช่าต่อ และ 3.กลุ่มเลี้ยงปลากระชัง/ผู้ประกอบการ ให้โอนสิทธิ์ให้รัฐและขอเช่าต่อซึ่งค่าเช่าจะสูงกว่า2 กลุ่มแรก โดย 2 วิธีการนี้รัฐบาลจะต้องนิรโทษกรรมก่อนจึงจะเข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบใหม่ใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ไม่เช่นนั้นเชื่อว่าจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560